ส่งออกไทยหด สัญญาณร้ายมาเยือน
หนึ่งในเครื่องจักรที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคือการส่งออก แต่การส่งออกของไทยเริ่มสะดุดอย่างแรงออกอาการไม่สวยตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี
หนึ่งในเครื่องจักรที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคือการส่งออก แต่การส่งออกของไทยเริ่มสะดุดอย่างแรงออกอาการไม่สวยตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี ส่งสัญญาณร้ายมาแล้วตั้งแต่หัววัน
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน มี.ค. 67 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 24,960 ล้านดอลลาร์ ลดลง 10.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 66 จากที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว 4.0-5.9% โดยเป็นการพลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน
สาเหตุสำคัญที่การส่งออกในเดือน มี.ค.นี้ลดลง เนื่องจากเทียบกับฐานที่สูงในเดือน มี.ค. 66 ประกอบกับปีนี้สภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ปริมาณผลผลิตผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนชะลอออกสู่ตลาดไปเป็นเดือน เม.ย. ซึ่งต่างจากในเดือน มี.ค. 66 ที่ปริมาณทุเรียนออกสู่ตลาดมาก
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในแง่ของมูลค่าจะพบว่าเดือน มี.ค. 67 การส่งออกมีมูลค่าสูงถึงระดับ 24,960 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ดังนั้น การที่ส่งออกในเดือน มี.ค.ที่ติดลบ 10.9% จึงไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด และเชื่อว่าในเดือน เม.ย. 67 มูลค่าการส่งออกจะกลับไปเป็นบวกได้อย่างแน่นอน
ผลพวงจากเดือน มีนาคม 2567 ทำให้ตัวเลขการขาดดุลการค้าไตรมาสแรกของปีนี้ย่ำแย่ไปด้วยโดยที่ตัวเลขการส่งออกของไทยในไตรมาส 1/67 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่ารวม 70,995 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยที่ 0.2% การนำเข้า มีมูลค่า 75,470 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.8% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าในไตรมาส 1/67 ที่ 4,475 ล้านดอลลาร์
การขาดดุลการค้าระยะสั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเพราะสะท้อนว่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหรือสินค้าทุนยังดำเนินไปตามปกติ
การที่กระทรวงพาณิชย์ ยังคงตั้งเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 67 เพิ่มขึ้นไว้ที่ 1-2% โดยยังคงประเมินในทางบวกว่าหากในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปีนี้ (เม.ย.-ธ.ค.) มูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือน สามารถทำได้ 24,046 ล้านดอลลาร์/เดือน จะทำให้การส่งออกทั้งปีเติบโตได้ 1% แต่หากสามารถทำได้ถึง 24,362 ล้านดอลลาร์/เดือน การส่งออกก็จะขยายตัวได้ 2%
ทั้งนี้ หากแยกการส่งออกสินค้าเป็นรายกลุ่ม จะพบว่า กลุ่มสินค้าเกษตรเฉพาะในเดือน มีนาคมมีมูลค่าการส่งออก 2,196 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นต่ำมากเพียง 0.1% แม้ว่าจะขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี คือ ข้าว และยางพารา ขณะที่การส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตร ไตรมาส 1/67 มีมูลค่า 6,290 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6.8%
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรลดลงอย่างน่าตกใจ โดยในเดือน มีนาคมมีมูลค่าการส่งออก 2,103 ล้านดอลลาร์ ลดลง 9.9% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม, อาหารสัตว์เลี้ยง, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขณะที่การส่งออกกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ไตรมาส 1/67 มีมูลค่า 5,588 ล้านดอลลาร์ ลดลงมากถึง 6.0%
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ในเดือน มีนาคมมีมูลค่าการส่งออก 19,813 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12.3% หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ขณะที่การส่งออกกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ไตรมาส 1/67 มีมูลค่า 56,645 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.3%
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยที่ขยายตัวได้ดีในเดือน มี.ค. 67 กลับเป็นตลาดใหม่ ได้แก่ อันดับ 1 รัสเซีย ขยายตัว 38.7% อันดับ 2 กัมพูชา ขยายตัว 21% อันดับ 3 ออสเตรเลีย ขยายตัว 13.5% อันดับ 4 ลาว ขยายตัว 7.9% อันดับ 5 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขยายตัว 5.6% อันดับ 6 ฮ่องกง ขยายตัว 5.3% อันดับ 7 ปากีสถาน ขยายตัว 3.7% อันดับ 8 ซาอุดีอาระเบีย ขยายตัว 2.6% อันดับ 9 สหรัฐฯ ขยายตัว 2.5% และอันดับ 10 แคนาดา ขยายตัว 1.8% แต่กระทรวงพาณิชย์กลับไม่ยอมรายงานอันดับประเทศที่การส่งออกหดตัวซึ่งได้แก่ ประเทศในอียู จีน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดหลัก
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ได้ออกมายืนยันว่าการที่ตัวเลขส่งออกไทยในเดือน มี.ค. 67 ติดลบมากถึง 10.9% ไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องกังวล เพราะทิศทางการส่งออกยังไปได้สวย อัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นปัจจัยหนุนช่วยการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยให้เติบโตในไตรมาสที่สองอีก 2%
ในมุมมองของผู้เกี่ยวข้องที่ยังไม่แสดงความกังวลต่อตัวเลขการส่งออกและการขาดดุลทางการค้าก็ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยจะปลอดภัยจากความเสี่ยง ถ้าหากว่าตัวเลขการส่งออกในเดือนต่อ ๆ ไปจะยังคงติดลบอีก
เมื่อถึงเวลานั้นจะรู้ว่าใครพูดโกหก
วิษณุ โชลิตกุล