พาราสาวะถี
ความเป็นรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ แน่นอนว่าย่อมหลีกหนีไม่พ้นทุกเรื่องราวที่เกิดเป็นกระแสข่าวจะถูกลากไปเชื่อมโยงกับ ทักษิณ ชินวัตร
ความเป็นรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ แน่นอนว่าย่อมหลีกหนีไม่พ้นทุกเรื่องราวที่เกิดเป็นกระแสข่าวจะถูกลากไปเชื่อมโยงกับ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะต้นกำเนิดประชานิยม โดยบรรดาโจทก์หน้าเดิมทั้งหลาย ที่นาทีนี้มีผู้ร่วมผสมโรงใหม่อย่างพรรคก้าวไกล ก็จะรุมสหบาทา แต่ว่ากรณีของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ที่พาดพิงถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ฝ่ายที่เสี้ยมอย่างเอาเป็นเอาตายต่อประเด็นนี้คือพรรคประชาธิปัตย์
พอเข้าใจได้ในความเป็นพวกที่อิงแอบกับฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่งมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวจนนำไปสู่การยึดอำนาจของเผด็จการ คสช.ที่ผ่านมานั้น เป็นภาพที่บ่งชี้ได้ชัดเจน หนนี้ก็เช่นกันเมื่ออุ๊งอิ๊งเปิดประเด็น พรรคการเมืองที่ความนิยมเหือดหายไปอย่างน่าตกใจ ต้องอาศัยจังหวะที่จะเรียกคะแนนคืนจากฝ่ายที่เป็นพวกสุดโต่งเหมือนกัน จึงโหมประโคมตีเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ความเป็นจริงหากมองอย่างไร้อคติ องค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นอิสระควรเปิดใจกว้างที่จะรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์
ในอดีตที่ผ่านมาถามว่าธนาคารแห่งประเทศไทย เคยตัดสินใจเรื่องไหนผิดพลาดมาบ้างหรือไม่ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดจนนำไปสู่การลอยตัวค่าเงินบาท ในวิกฤตต้มยำกุ้งคือตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งกรณีของอุ๊งอิ๊งที่วิจารณ์ ก็ไม่ต่างจากที่คนของแบงก์ชาติ โดยเฉพาะ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท.ที่เห็นต่าง และแสดงความเห็นแย้งในหลายเรื่องที่รัฐบาลจะดำเนินการ จนต้องเกิดการนัดแลกเปลี่ยนความเห็นกับเศรษฐาอยู่บ่อยครั้ง
กระทั่งเจ้าตัวต้องส่งสัญญาณกลับมา หลังจากเศรษฐาแสดงท่าทีว่าเรื่องไหนก็ตามหากเห็นไม่ตรงกันก็ต้องหารือ พูดคุย จนกว่าจะมีมุมที่มองตรงกัน เข้าใจว่าท่วงทำนองที่ตรงไปตรงมา กล้าที่จะเผชิญหน้าเช่นนี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคงจะไม่ถนัด จึงขอให้มีการประสานทำความเข้าใจกันระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารกลางแทน นั่นก็สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการที่จะต้องมาปุจฉา วิสัชนา เพื่อที่จะให้เกิดการตกผลึกในเรื่องที่สำคัญนั่นเอง
หรืออีกนัยหนึ่งคือ เกรงว่าจะทนต่อแรงกดดันทางการเมืองไม่ไหว จึงอาศัยการไม่พบหน้า แล้วใช้วิธีการส่งตัวแทนหรือเอกสารที่เป็นข้อทักท้วงแทน ดังนั้น ความพยายามในการที่จะขยายผลจากปมความเห็นของอุ๊งอิ๊ง เพื่อที่จะทำให้ความเห็นต่างกลายไปเป็นความขัดแย้ง เศรษฐาจึงรู้ทัน และย้ำว่าเป็นหน้าที่ของ พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่จะต้องไปจัดการ ทำความเข้าใจกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เพื่อไม่ให้ใครใช้ความเห็นต่างไปสร้างความแตกแยก
แน่นอนว่า พรรคการเมืองรุ่นใหม่อย่างก้าวไกลก็รู้ดี เมื่อไม่ใช่พวกที่ถือหางอนุรักษนิยมสุดโต่งอยู่แล้ว ประเด็นนี้จึงต้องมองเป็นเพียงความเห็นหนึ่งของคน ๆ หนึ่ง ที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของฝ่ายที่ดูแลแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง อาจจะมองไม่ครบรอบด้าน ย่อมเป็นธรรมดาที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะโต้ตอบกลับ แต่ต้องเป็นไปบนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนความเห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่หวังผลอย่างหนึ่งอย่างใด โดยเฉพาะผลทางการเมือง
ความวัวไม่ทันหาย ลูกสาวคนเล็กตกอยู่ท่ามกลางการถูกรุมขย้ำจากพวกขาประจำ ก็เกิดข่าวทักษิณผู้พ่อ มีการพบปะพูดคุยกับตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ เอ็นยูจี ซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของเมียนมา โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยยุติความขัดแย้งในเมียนมาที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 กรณีนี้ย่อมหนีไม่พ้นที่ฝ่ายตรงข้ามจะหยิบไปโจมตี ชี้ให้สังคมเห็นว่าเศรษฐาและรัฐบาลน่าจะตกอยู่ภายในอำนาจการชี้นำของอดีตนายกฯ
จึงไม่แปลกที่เศรษฐาจะบอกว่าไม่รู้เรื่องกับกรณีนี้ พร้อมยืนยันในหลักการกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานด้านความมั่นคงมีการพูดคุยกับทุกกลุ่มอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของชั้นความลับ และไม่ต้องการที่จะมีการเปิดเผยอะไร ยืนยันในหลักการเดิมคือ ต้องการให้เกิดความสงบสุขและสันติภาพในเมียนมา และประเทศไทยมีความชอบธรรมในการเป็นผู้นำการเจรจา เพราะมีเขตชายแดนที่ติดกับเมียนมา รวมทั้งการปฏิบัติตามมติของอาเซียนที่ได้กำหนดกรอบขึ้นมา
กรณีนี้ย่อมอ้างหลักการได้อย่างเต็มปากเต็มคำ แต่ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาล ยิ่งเป็นเรื่องการบริหารจัดการ การติดตามงาน และการลงพื้นที่ในประเทศ ยิ่งทักษิณเดินทางบ่อยมากขึ้นเท่าไหร่ ย่อมจะสร้างความอึดอัดใจให้กับเศรษฐาได้ไม่น้อย และคำตอบที่ได้จากการถูกถามเมื่อเกิดความเคลื่อนไหวของอดีตนายกฯ ย่อมจะเหมือนกันทุกครั้งนั่นก็คือ “ผมไม่ทราบ แต่การลงพื้นที่พบปะประชาชน หรือการพูดคุยกับใคร ฝ่ายไหน ผมเชื่อว่าทุกท่านมีความหวังดีกับประเทศ”
เป็นเหมือนภาคบังคับ และถูกจับตามองว่าในขณะที่รัฐบาลเร่งกระชับอำนาจ และจัดองคาพยพเพื่อให้การบริหารประเทศราบรื่น เรียบร้อย อีกด้านภายในพรรคเพื่อไทยก็มีการกระชับอำนาจเช่นกัน โดยงานบริหารและสื่อสารกับลูกพรรค รวมไปถึงส่งสารถึงประชาชนเป็นหน้าที่ของอุ๊งอิ๊ง แต่การบริหารจัดการทั้งเรื่องการให้คุณให้โทษกับรัฐมนตรี สส. และสมาชิกพรรคคนสำคัญ ล้วนขึ้นอยู่กับการตัดสินชี้ขาดของนายใหญ่เป็นสำคัญ
การขยับในลักษณะรุก รบ รวดเร็วเช่นนี้ ด้านหนึ่งคือการสร้างความเชื่อมั่นกับบรรดาสมาชิกพรรคว่า ถ้าเดินตามแนวทางนี้มีอนาคตกันแน่ แต่อีกด้านต้องอย่าลืมอำนาจที่จะช่วยต่อยอดให้การฟื้นความนิยมกลับมานั้น ต้องอาศัยคนเป็นผู้นำประเทศ และเสถียรภาพของความเป็นรัฐบาลผสม การจะตัดสินใจอะไรก็ตามไม่สามารถเด็ดขาดได้เหมือนในยุคของไทยรักไทย เห็นได้จากการยกกระทรวงสำคัญอย่างมหาดไทย เกษตรและสหกรณ์ ให้พรรคร่วมรัฐบาลไปดูแลแบบเต็ม ๆ
เป็นภาพสะท้อนให้เห็นการยอมเพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมภายใต้ความเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ขณะเดียวกัน นายใหญ่ก็ต้องบริหารความรู้สึกของคนในพรรคแกนนำด้วย ยุคนี้ไม่มีบัญชีสองบัญชีสามเพื่อแก้ปัญหาความต้องการตำแหน่งทางการเมืองเหมือนในอดีต การแก้ปัญหาความน้อยเนื้อต่ำใจจึงต้องใช้วิธีอื่นซึ่งยากที่จะปฏิเสธได้ ภายใต้สถานการณ์การฟื้นฟูพรรคและหวังกลับมายิ่งใหญ่ให้ได้ จะลำพอง จองหองไม่ได้เด็ดขาด
อรชุน