พาราสาวะถีอรชุน
”เราต้องการการเปลี่ยนแปลงจากที่เห็นว่าสภาพประเทศอันเป็นที่รักแย่ที่สุด นี่คือสิ่งที่ผมทำผิดมหันต์ในชีวิต เพราะสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้แย่ยิ่งกว่า และไม่มีโอกาสออกไปเดิน เพราะกลัวอำนาจรัฐบาลทหารครับ” นี่คือคำพูดของนายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขในยุครัฐบาลขิงแก่ ที่พูดถึงการหลงผิดเดินขบวนขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยคิดว่าจะได้สิ่งใหม่ที่ดีกว่าแต่กลับแย่กว่าเดิม
”เราต้องการการเปลี่ยนแปลงจากที่เห็นว่าสภาพประเทศอันเป็นที่รักแย่ที่สุด นี่คือสิ่งที่ผมทำผิดมหันต์ในชีวิต เพราะสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้แย่ยิ่งกว่า และไม่มีโอกาสออกไปเดิน เพราะกลัวอำนาจรัฐบาลทหารครับ” นี่คือคำพูดของนายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขในยุครัฐบาลขิงแก่ ที่พูดถึงการหลงผิดเดินขบวนขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยคิดว่าจะได้สิ่งใหม่ที่ดีกว่าแต่กลับแย่กว่าเดิม
เชื่อแน่ว่ายังมีแนวร่วมม็อบกปปส.อีกหลายรายที่รู้สึกผิดหวังต่อรัฐบาลคสช. จากผลของการทำงานไม่ได้ดั่งใจและยิ่งนานไปดูเหมือนว่าจะนำพาประเทศถอยหลังลงคลองไปเรื่อยๆ พอเห็นท่วงทำนองเช่นนี้ เลยทำให้นึกถึงบทความของ พสิษฐ์ ไชยวัฒน์ ที่เขียนไว้ในเว็บไซต์ประชาไทเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่อง ทำไมสลิ่มกลับใจจึงซ่อนตัว
โดยอธิบายถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า น้ำเสียงและท่าทีของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการขนานนามว่าเป็นสลิ่ม ที่กลายพันธุ์มาจากคนเสื้อเหลือง ได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงข้ามเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จากที่เคยสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ชื่นชมและชื่นชอบการปฏิวัติรัฐประหารและการปกครองที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด กลับกลายมาเป็นเสียงบ่นดังๆอยู่ในใจ ที่ไม่สามารถบอกใครได้
กลุ่มคนที่เป็นสลิ่มกลายพันธุ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีการศึกษาดีจนถึงขั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีสถานภาพทางสังคม ยึดมั่นในศีลธรรมและจริยธรรมจรรยา มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายในสังคมโรแมนติก และไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น กลุ่มดาราและนักร้อง กลุ่มผู้มีชื่อเสียงในสังคม กลุ่มนักวิชาการ รวมทั้งหนุ่มสาวออฟฟิศรุ่นใหม่ในเจนเนอเรชั่น X Y Zเป็นต้น
ที่ผ่านมา สลิ่ม เป็นผู้ที่รณรงค์อย่างแข็งขันและเป็นแนวหน้ากล้าตายในการออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลชุดที่แล้ว โดยชูประเด็นเรื่องการคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก่อนที่จะกลายมาเป็นการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง มีความรังเกียจเดียดฉันท์รัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่น รังเกียจรัฐบาลที่มอมเมาประชาชนรากหญ้าผ่านนโยบายประชานิยมที่ไม่เคยพอเพียง
การออกมาชุมนุมในครั้งนั้นเปรียบได้เป็น Big Social Eventที่สำคัญ ซึ่งใครก็ตามที่ต้องการสถาปนาตนเองให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนชั้นนำ หรือใครก็ตามที่ต้องการฟอกตัวเปลี่ยนสีเพื่อเลื่อนสถานะทางสังคมโดยอัตโนมัติ การไม่เข้าร่วมอาจถูกตราหน้าว่าเป็นพวกสังคมล้าหลังตกขอบ ดังนั้น จึงต้องออกมาแสดงพลังด้วยการชุมนุมเดินขบวน แสดงตัวตนความเป็นชนชั้นนำที่ไม่ใช่ราษฎรเสียงข้างมาก
ภาพมายาคติที่เต็มไปด้วยอคติและความลำเอียงที่ซ่อนอยู่ในเบื้องลึกของจิตใจ มองคนต่ำต้อยด้อยค่าอย่างเหยียดหยาม ซึ่งถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานจนเกิดเป็นพันธนาการที่มองไม่เห็น ถูกผูกมัดและฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ จึงก่อให้เกิดความเชื่อมั่นอย่างสุดใจว่า คนทุกคนย่อมมีความไม่เท่าเทียมกันมาตั้งแต่กำเนิด การศึกษาและสถานะทางสังคมย่อมบ่งบอกถึงระดับชนชั้นวรรณะ
แต่จากเรื่องราวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆทั้งความไม่โปร่งใสในการทำงานของรัฐบาลที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมจนเกิดปรากฎการณ์สองมาตรฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหรือการสร้างความปรองดองแค่เปลือกนอกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เหตุอันใดบรรดาสลิ่มกลุ่มเดิม ด้วยตรรกะแบบเดิม ด้วยผลลัพธ์แบบเดิม จึงยังซ่อนตัวนิ่งเฉย ไม่รู้สึกสะทกสะท้านกับปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่ได้ออกมาเดินขบวนเรียกร้องขับไล่รัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา
ด้วยความไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวตนหรือแสดงความความรับผิดชอบต่อสาธารณะว่า ได้เคยตัดสินใจผิดพลาดมาแล้วหนหนึ่ง รวมทั้งไม่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะแสดงความรับผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงทำได้แค่เพียงถอยห่างออกมาอย่างเงียบๆ โดยเมินเฉยต่อสิ่งต่างๆรอบตัว กลับมาใช้ชีวิตอย่างเพลิดเพลิน หาความสำราญตามวิสัยของคนเมืองหลวงที่เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย
จากจิตสาธารณะที่มุ่งมั่นต้องการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติกลับกลายมาเป็นการปกป้องผลประโยชน์แห่งตน จากปณิธานอันแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมกลับกลายมาเป็นปัจเจกชนที่ไม่สนใจสังคมรอบข้าง อยู่กับความสุขในอาณาเขตเฉพาะบุคคลโดยไม่ต้องสนใจคนอื่นอีกต่อไป ทำไมสลิ่มเหล่านี้ไม่หลงเหลือความละอายและเกรงกลัวต่อบาปในจิตใจบ้างหรืออย่างไร ผลแห่งกฎหมายอาจมาช้าหรือไม่ยุติธรรม แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ กฎแห่งกรรมนั้นยุติธรรมเสมอ
ประเทศไทยกำลังเดินถอยหลังลงคลองโดยเปรียบเทียบ ถอยหลังกลับไปหาวันวานในอดีต หลบซ่อนตัวเป็นกบอยู่ในกะลาหรือขอบเขตที่ตนเองพึงพอใจเท่านั้น ซึ่งชนชั้นนำไทยมักดูแคลนประเทศใกล้เคียงว่าล้าหลังและด้อยพัฒนา แต่หารู้ไม่ว่าจากวิกฤติเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นชัดว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ
การกระจายความมั่งคั่งส่วนใหญ่กลับตกอยู่กับกลุ่มคนอย่างสลิ่มที่ไม่เคยเข้าใจปัญหาและไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น เพราะสภาพแวดล้อมของปัญหาได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ดังนั้น คำตอบของปัญหาจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทำให้ประเทศไทยสูญเสียจุดแข็งที่เคยมีมาอย่างสิ้นเชิง และจุดแข็งที่เคยมีก็กลายเป็นจุดอ่อนในเวทีโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน
ในท้ายที่สุดแล้ว สลิ่มชนจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้และอาจถูกกระแสน้ำแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและเชี่ยวกรากพัดพาหายไปจากสถานภาพเดิมก็เป็นได้ ในโลกแห่งความเป็นจริงซึ่งเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วนั้น บทเรียนจากการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่เดินย่ำรอยจำนำข้าว น่าจะเป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า สิ่งที่ผู้มีอำนาจอ้างหลักการนั้นแท้จริงก็แค่การหลอกตัวเอง เพราะท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นที่ต้องทำในสิ่งที่เคยกล่าวหาว่านักการเมืองเลวทรามเคยทำไว้นั่นเอง