ประชารัฐการยางขี่พายุ ทะลุฟ้า

พวกเรากำลังอยู่ในระบบ “ประชารัฐ” ไม่ใช่ในระบบ “ประชานิยม” นะ ขอบอก


ชาญชัย สงวนวงศ์

                       

พวกเรากำลังอยู่ในระบบ ประชารัฐ” ไม่ใช่ในระบบ “ประชานิยม” นะ ขอบอก

มันเป็นคนละระบบสายพันธุ์หรือเหลื่อมล้ำทับซ้อนกันอย่างไรก็ไม่รู้ล่ะ แต่ขอให้ตระหนักรู้ไว้เถอะว่า ยุคนี้ “ประชานิยม” เป็นของแสลง ต้อง “ประชารัฐ” เท่านั้น ถึงจะเป็นสิ่งพึงยึดถือยอมรับ

“ประชารัฐ” มีมาแต่เก่าก่อน “ประชานิยม” เพราะปรากฏอยู่ในท่อนหนึ่งของเนื้อเพลงชาติไทย

จำได้ไหม ยังจำได้หรือเปล่า เนื้อร้อง “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ…”

ไม่รู้ว่าใครขุดคุ้ย ระลึกนึกถึงขึ้นมาได้ก่อนกัน ระหว่างรองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่รองฯสมคิด ดูจะมีปฏิบัติการเรื่องนี้ลึกซึ้งกว่า ตรงที่ได้มีการนำภาคประชาสังคม นำโดยหัวขบวนใหญ่ นพ.ประเวศ วสี มาร่วมมือผลักดันภารกิจของชาติร่วมกับภาคเอกชน และภาครัฐ

ต่อไป ก็คงจะได้เห็นบทบาทภาค “ประชารัฐ” ที่ดูสมจริงสมจังจากอีเวนต์ต่างๆ ที่จะจัดขึ้นอยู่หรอก

บางโครงการก็ไม่อาจจำแนกแยกแยะได้เหมือนกันนะว่า อันไหนเป็น “ประชารัฐ” หรืออันไหนเป็น “ประชานิยม” เพราะมันเหมือนกันเด๊ะเลย

อย่างเช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน หรือโครงการก่อสร้างสาธารณประโยชน์ตำบลละ 5 ล้านบาท ซึ่งแต่ก่อนเรียกว่า SML

มีที่เพี้ยนกันไปบ้างก็อาจจะเป็นโครงการถไฟความเร็วสูงกับโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง ซึ่งของรัฐบาลชุดก่อน มันเป็นรถไฟความเร็วสูงไปไม่ได้ เพราะถนนลูกรังยังไม่หมดไป

โครงการสารพัดสีรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนก็เป็นไปตามนั้น รัฐบาลเก่าริเริ่มมาอย่างไร รัฐบาลนี้ก็ยังคงเดินหน้าต่อ ไม่เห็นว่าจะออกมาปฏิเสธสายใดสักสาย

สำหรับการแก้ปัญหาวิกฤตราคาพืชผลทางการเกษตร “รัฐบาลประชารัฐ” จะหลีกเลี่ยงสุดกำลัง ไม่เข้าไปเดินตามรอย “รัฐบาลประชานิยม”

“รัฐบาลประชารัฐ” จะไม่เข้าไปรับจำนำหรือประกันราคาพืชผลเหมือน “รัฐบาลประชานิยม” คงเข้าไปช่วยเหลือแต่เฉพาะในด้านการช่วยเหลืทอด้านต้นทุนการผลิต อาทิ ช่วยเหลือชาวนาหรือชาวสวนยางไร่ละ 1,500 บาทเป็นต้น

แต่มาหนนี้ ปัญหาราคายางพารา ดูจะหนักหน่วงเอาการ “รัฐบาลประชารัฐ” จำต้องทบทวนจุดยืนและบทบาท ที่นอกเหนือจากการสงวนเนื้อสงวนตัวเฉพาะการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิต

การเคาะราคาให้อคส.ออกไปรับซื้อยางจำนวน 1 แสนตัน ในราคาชี้นำที่ก.ก.ละ 45 บาท ถึงได้เกิดขึ้นตามมา

นี่เป็นการโลดแล่นออกนอกแนว “ประชารัฐ” มาฉวัดเฉวียนเข้าใกล้แดน “ประชานิยม” เป็นครั้งแรก เพราะเป็นการซื้อสินค้าการเกษตร สูงกว่าราคาตลาด

จากราคายางดิบก.ก.ละ 32 บาท มาเป็นก.ก.ละ 45 บาท ถ้าไม่เรียกว่า ซื้อสูงกว่าราคาตลาด แล้วจะให้เรียกว่าอะไร

โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เป็นการรับจำนำสูงกว่าราคาตลาดเช่นกัน จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทับซ้อนกันระหว่าง “ประชารัฐ” กับ “ประชานิยม” อย่างไม่ต้องสงสัย

ความแตกต่างก็มีอยู่บ้าง เช่น ซื้อยางเป็นปริมาณไม่มากนัก ขณะที่จำนำข้าว เป็นการรับจำนำทุกเม็ด ความเสียหายทางงบประมาณรัฐจาก “ประชานิยม” จึงมีมากกว่าความเสียหายจาก “ประชารัฐ”

การมีทั้งส่วนเหมือนและส่วนต่างกันเช่นนี้ จึงทำให้พอกล้อมแกล้ม เอาไปอ้างกันได้ว่า “ประชานิยม” ก็ “ประชานิยม” และ “ประชารัฐ” ก็ “ประชารัฐ” เป็นคนละเรื่องและคนละโลกกันเลย

ประการสำคัญที่สุดก็คือ “ประชานิยม” นั้น ต้องติดคุกสถานเดียว ส่วน “ประชารัฐ” ก็อยู่รอดปลอดภัยชัวร์

Back to top button