TUR กับการย้อนกลับมาของลัทธิเทวราชา

ระหว่างที่สังคมไทยกำลังถกเถียงกันถึงการตายของ บุ้ง ทะลุวัง หรือนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม ที่เสียชีวิตอย่างปริศนาในคุก


ระหว่างที่สังคมไทยกำลังถกเถียงกันถึงการตายของ บุ้ง ทะลุวัง หรือนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม ที่เสียชีวิตอย่างปริศนาในคุกพร้อมกับข้อแถลงอย่างคลุมเครือของกรมราชทัณฑ์ที่แจ้งว่าเสียชีวิตจากการหยุดหายใจอย่างกะทันหันนั้น ผู้เขียนก็ได้รับทราบจากนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งที่ใกล้ชิดกับอาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ ผู้ล่วงลับไปแล้วว่า ประเด็นหลักของสังคมไทยยามนี้คือการต่อสู้ระหว่างคน 2 กลุ่มที่มีแนวคิดต่างกัน โดยกลุ่มที่มีอำนาจนำหลักในสังคมไทยคือกลุ่ม TUR (Thai Ultra Royalists) กับกลุ่ม TRR (Thai Reasonable Royalists)

ในกรณีที่ถือกันว่าเราอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเชิดชูราชาชาตินิยม (Monarchy Nationalism Constitution) ดังเช่นรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

กลุ่มแรกคือกลุ่ม TUR นั้นได้แก่กลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า อัลตร้ารอยัลลิสต์ ซึ่งมีเป้าหมายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ถือว่ากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้ (The King can do no wrong) อย่างเถรตรง โดยแสร้งทำเป็นลืมไปว่าคำพูดดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้บริบทของสังคมตะวันตกที่มีเงื่อนไขกำกับไว้ว่ามีข้อจำกัดในการใช้อำนาจของกษัตริย์ภายใต้พระเจ้า

ส่วนกลุ่ม TRR นั้นถือว่ากษัตริย์มีข้อจำกัดทางอำนาจภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนตามแนวทางสัญญาประชาคม (Social contracts) ของจอห์น ล็อก

กลุ่ม TUR แสดงบทบาทชี้นำสังคมไทยในยามนี้ ซึ่งดูเหมือนจะรับถ่ายทอดความคิดมาจากปรัชญาการเมืองอันคับแคบของเขมรยุคนครวัดที่เรียกกันว่าลัทธิเทวราชา

ลัทธิเทวราชานี้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นมาในยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่สองของอังกอร์วัด โดยดัดแปลงระบอบวรรณะของอินเดียที่แบ่งคนในสังคมเป็น 4+1 ชนชั้นตามวรรณะหรือสีผิวและชาติพันธุ์ นั้นคือ พราหมณ์ กษัตริย์  แพทย์ (พ่อค้าวาณิชย์) และศูทร (กรรมกร) โดยมีคนนอกระบบวรรณะที่ได้รับการปฏิบัติจากสังคมอย่างเลวร้ายสุดคือจัณฑาล (ที่เกิดจากการแต่งงานข้ามวรรณะกันของพ่อแม่)

ชัยวรมันได้ดัดแแปลงการแบ่งคนในสังคมเขมรออกเป็น 2 ชนชั้นเท่านั้น คือ กษัตริย์ที่รับสิทธิขาดให้เป็นผู้ปกครองแผ่นดินในฐานะเจ้าชีวิตของคนทั้งสังคม ด้วยการยกฐานะของกษัตริย์ให้เป็นเสมือนเทวราช ที่รับอาณัติจากสวรรค์มีสิทธิขาดให้มาปกครองมนุุษย์

ลัทธิเทวราชแบบเขมรนั้นใช้วิธีการรวมเอาลัทธิไศวนิกายที่เชิดชูกษัตริย์ขึ้นเป็นพระศิวะ ขณะเดียวกันก็ได้ดัดแปลงเอาไวษณพนิกายเข้ามารวมโดยให้กษัตริย์เป็นอวตารของพระนารายณ์หรือพระวิษณุเพื่อสืบทอดอำนาจต่อกันมาแบบไม่สิ้นสุด

สิ่งก่อสร้างในสมัยอังกอร์วัดที่ประกอบด้วยศิวลึงค์และภาพแกะสลักเรื่องรามเกียรติ์ล้วนเป็นไปเพื่อส่งเสริมลัทธิเทวราชา เพื่อเสริมสร้างอำนาจของกษัตริย์เขมรให้อยู่เหนือประชาชนที่ต้องใช้แรงกายเป็นภาษีในการสร้างปราสาทหิน ระบบชลประทาน และระบบเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งยาวนานมาถึง 400 ปี

แต่ระบบเทวราชาของเขมรยุคโบราณมาถึงขีดจำกัดและเสื่อมลงในสมัยชัยวรมันที่ 7 ที่ได้มีการเปลี่ยนศาสนาจากฮินดูมานับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน และดัดแปลงเทวราชาให้กลายเป็นธรรมราชาที่หลายอาณาจักรที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ยุคหลังเขมรเสื่อมลง โดยเฉพาะอยุธยาของไทยได้เถลิงอำนาจขึ้นมาแทนและรับเอารูปแบบการปกครองแบบเทวราชาของเขมรมาใช้ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถได้รับเอารูปแบบการปกครองระบบจตุสดมภ์มาใช้เพื่อกระชับอำนาจทดแทนระบบเมืองลูกเมืองหลานของสุโขทัย มีการเอาพิธีกรรมถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเขมรมาใช้ในการอ่านโองการแช่งน้ำเพื่อกันไม่ให้ข้าราชบริพารทรยศ

พิธีกรรมการอ่านโองการแช่งน้ำที่สืบทอดกันมาในสมัยอยุธยานั้น ไม่ศักดิ์สิทธิ์นัก เพราะจะเห็นได้จากมีการแย่งยึดอำนาจมากถึง 28 ครั้งในรอบ 414 ปีของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา หรือทุก ๆ 24 ปีทีเดียว

ลัทธิธรรมราชาและเทวราชาจะถูกพวกรอยัลลิสต์ของไทยยกมาใช้เพื่อเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์เสมอ

เวลาที่มีคนกล่าวหาว่าสถาบันกษัตริย์ใช้อำนาจที่เกินเลย ก็จะมีเสียงโต้แย้งว่ากษัตริย์ทรงเป็นธรรมราชาที่ใช้ทศพิธราชธรรมมากกว่าเป็นเทวราชา แต่เวลาที่มีการเข่นฆ่าประชาชนก็จะอ้างเหตุผลแบบเทวราชามาใช้อย่างยืดหยุ่นกับสถานการณ์

ในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่คนเริ่มยอมรับว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นธรรมราชามากกว่าเทวราชา แต่พอมาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ดูเหมือนจะมีแนวโน้มยกฐานะของพระมหากษัตริย์ไทยขึ้นเป็นเทวราชาอีกครั้ง

ด้วยวาทกรรมชังชาติของบรรดาที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์หรือองคมนตรี ซึ่งส่งผลให้เกิดคำถามขึ้นมาถึงการหวนย้อนกลับมาของลัทธิเทวราชาครั้งใหม่จากกลุ่มคนซึ่งขอเรียกว่าเป็น TRR หรือ Thai Reasonable Royalists ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไปแล้วและพรรคก้าวไกลในปัจจุบันที่กำลังจะถูกยุบในเร็ว ๆ นี้โดยการไล่ล่าของพวก TUR ที่กล่าวหาว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นพวก TAR (Thai Anti Royalists) อย่างเกินเลย

นักประวัติศาสตร์ท่านนี้กระซิบบอกว่า การต่อสู้ระหว่าง TUR กับ TRR ตามแบบของนักประวัติศาสตร์แบบใหม่นี้ยังไม่จบสิ้น ส่วนจะพัฒนาถึงขั้นเป็น The Glorias Ruiz Revolution แบบอังกฤษเมื่อต้นคริสตวรรษที่ 18 หรือไม่ ต้องติดตามเสียงกระซิบจากนักประวัติศาสตร์ท่านนี้ว่ามีความแหลมคมและตรงกับความเป็นจริงหรือไม่

วิษณุ โชลิตกุล

Back to top button