พาราสาวะถี
เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไป 3 ประเทศ ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น เพื่อทำหน้าที่เซลส์แมนของประเทศ เชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยให้มากขึ้น
ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไป 3 ประเทศคือ ฝรั่งเศส อิตาลี และปิดท้ายที่ญี่ปุ่น จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ เพื่อทำหน้าที่เซลส์แมนของประเทศ ตั้งเป้าที่จะเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยให้มากขึ้น พร้อมกับนำสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาไทยไปอวดต่อสายตาชาวโลก ในประเทศกับกลุ่ม สว.ที่ถูกอ้างว่ามีจำนวน 40 ราย ร่วมกันลงชื่อยื่นต่อ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 160
พร้อมด้วย พิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเหตุผลที่ยื่นจากคำอธิบายแบบเสียมิได้ของ ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว.สายอนุรักษนิยมสุดโต่งนั้น เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐาตั้งพิชิตเป็นรัฐมนตรีทั้งที่มีการทักท้วง แต่ทำไมยังเสนอชื่อและโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอีก จึงเห็นว่าเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของนายกฯ ส่วนพิชิตนั้นพวกลากตั้งที่เข้าชื่อมองว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นที่ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
แน่นอนว่า การขยับดังกล่าวเร้าความสนใจจากประชาชนได้เป็นอย่างดี แต่คนจำนวนไม่น้อยก็อดสงสัยไม่ได้ว่า โดยมารยาทแล้ว พวกลากตั้งที่หมดวาระไปแล้ว ทำหน้าที่แค่รักษาการเพื่อรอกระบวนการเลือก สว.ชุดใหม่มาทำหน้าที่นั้น สมควรที่จะทำเรื่องนี้หรือไม่ และการดำเนินการก็ไม่เป็นที่เปิดเผย เหมือนลับ ๆ ล่อ ๆ แม้แต่รายชื่อ 40 สว.ที่อ้างก็ไม่ยอมบอกว่ามีใครบ้าง ทั้งที่นี่คือเรื่องใหญ่ กล่าวหาใครแล้วควรที่จะต้องแสดงตนให้ชัดเจน
หนักข้อไปกว่านั้น มีประเด็นที่ดิเรกฤทธิ์อ้างก็คือ แม้จะอยู่ในฐานะรักษาการแต่ถือเป็นการทำหน้าที่ฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยและอำนาจที่มีอยู่ ประเด็นอำนาจคงไม่มีใครสงสัย การกล่าวอ้างว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยนั้น นึกภาพไม่ออกว่าพวกลากตั้งอันมีที่มาจากปลายกระบอกปืนของเผด็จการ คสช. มีความยึดโยงกับประชาชนตรงไหน อาจจะเรียกได้ว่าพฤติกรรมและการทำหน้าที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ไม่เคยมองเห็นหัวประชาชนแม้แต่น้อย
หากจะอ้างความเป็นผู้แทนปวงชน หรือตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง กระบวนการเลือกนายกฯ หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา ต้องไม่ออกมาในรูปแบบที่เห็น เท่านี้ก็คือหลักฐานที่พิสูจน์ได้แล้วว่า ทุกย่างก้าวที่ได้ทำลงไปนั้น ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ภายใต้การชี้นิ้วสั่งการของเผด็จการผู้มีอำนาจคุ้มกะลาหัวทั้งสิ้น พอจะเข้าใจได้ว่าพวกประเภทอย่างหนาเรียกพี่ คงไม่ใยดีต่อข้อครหาใด ๆ ต้องรอดูต่อไปว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาหรือไม่
ท่วงทำนองที่แปลกแปร่งเช่นนี้ จับท่าทีของ เสรี สุวรรณภานนท์ สว.ซึ่งยืนยันได้ว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลชัดเจน น่าจะเห็นความไม่ชอบมาพากลของความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เพราะเจ้าตัวในฐานะตัวตั้งตัวตีที่ยื่นขออภิปรายรัฐบาลไปก่อนจะปิดสมัยประชุมก่อนหน้า ย้ำว่าการยื่นถอดถอนทั้งเศรษฐาและพิชิตหนนี้ตนไม่เอาด้วย ฟังดูเหตุผลแล้วมันก็ชวนให้นึกถึงกระบวนการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะถกกันว่าจะรับหรือไม่รับเรื่องนี้
ประเด็นที่เสรีชี้ให้เห็นก็คือ เนื้อหาที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีของเศรษฐานั้น ยังไม่มีเหตุที่นำไปสู่การยื่นให้วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะการเสนอชื่อพิชิต แม้ว่าจะมีประเด็นเรื่องคุณสมบัติที่มีปัญหา แต่กลับถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในแง่มุมทางกฎหมายยังไม่มีองค์กรใดที่วินิจฉัยชี้ขาด ทำให้ตนไม่เห็นด้วยกับรายละเอียดทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นคงไม่ต่างจากที่สังคมส่วนใหญ่ร่วมตั้งคำถามว่า ต้องการอะไร หรือหวังผลอะไร หากต้องการแสดงพลัง หรือบริสุทธิ์ใจจริงควรจะประกาศชื่อให้คนรู้
มองแนวโน้มคงไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เศรษฐาต้องหนักใจ กรณีนี้คงไม่ต่างจากเรื่องปัญหาคุณภาพข้าวในโครงการรับจำนำที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า ยังใช้ได้ และต้องการจะเปิดประมูลขายไม่ว่าจะได้ราคาเท่าไหร่ก็ตาม ก็ถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีสารพัด ทั้งที่ความเป็นจริงเรื่องการพิสูจน์คุณภาพ และสารที่อาจก่ออันตรายต่อผู้บริโภค มีหน่วยงานที่สามารถจะดำเนินการได้อยู่แล้ว ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ใครก็จะมาใช้อารมณ์ ความรู้สึกไม่ได้
เบื้องต้น มีข่าวว่าผลตรวจสอบตัวอย่างข้าว 10 ปี ที่ส่งตรวจจากห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่พบสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งหรืออะฟลาท็อกซิน และไม่มีสารปนเปื้อนที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อการบริโภค แต่คงต้องรออีกหลายแห่ง แม้แต่ภาคเอกชนที่ประสงค์จะรับซื้อข้าวดังกล่าว ก็ต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่จะมาตรวจสอบ ทั้งที่รู้การขยับของรัฐบาลโดยรัฐมนตรีของพรรคแกนนำในเรื่องนี้ มีเป้าหมายทางการเมืองอย่างไร ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายหากจะช่วยกันพิสูจน์ว่า ข้อกล่าวหาต่อโครงการรับจำนำข้าวในอดีต ทุจริตนั่นก็เรื่องหนึ่ง
เรื่องที่ต้องช่วยกันตั้งคำถามก็คือ หากข้าวซึ่งผ่านไป 10 ปีแล้วยังมีคุณภาพ แล้วทำไมรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจถึงไม่ยอมขายข้าวในโครงการ เหตุผลมันบ่งชี้อยู่ในตัวอยู่แล้ว อาจจะมีส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาจนข้าวเสื่อมคุณภาพ แต่เชื่อว่าต้องมีอีกจำนวนไม่น้อย หรือจะส่วนมากเสียด้วยซ้ำไปที่หากนำออกไปขาย และดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา มูลค่าความเสียหายที่กล่าวหาต่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะคงไม่มากมายขนาดนั้น นี่ก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าการยึดอำนาจที่ไม่อยากให้เสียของ และต้องการอยู่ยาวนั้น ต้องทำทุกวิถีทางแม้ว่าจะชั่วช้าสามานย์ขนาดไหน
มรดกบาปอีกอย่างจากเผด็จการ คสช.ก็คือ การเลือก สว. ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการเลือก ไม่ใช่เลือกตั้งจึงไม่แปลกที่ประชาชนจะถูกตัดออกจากกระบวนของการมีส่วนร่วม วิธีการที่ซับซ้อนก็คงไม่ต่างจากกลไกที่วางไว้เพื่อการอยู่ยาว ยิ่งองค์กรที่กำกับดูแลอย่าง กกต.คลอดกฎ กติกาต่าง ๆ ออกมาแทนที่จะทำให้ทุกอย่างง่าย กับยุ่งยาก ยุ่งเหยิง ถูกวิจารณ์หนักข้อเข้าไปอีก เมื่อมันเต็มไปด้วยคราบไคลเผด็จการ กระบวนการมันจึงดูพิลึกพิลั่น ดีที่ว่าไม่เข้าขั้นอุบาทว์
อรชุน