ประธานตลท.คนใหม่ ไร้การเมืองครอบงำ
ภาพลักษณ์ขององค์กรต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเติบโต และหนุนนำเศรษฐกิจของประเทศ มักจะถูกจับจอง “ตำแหน่ง” จาก “ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล” เข้ามา
ภาพลักษณ์ขององค์กรต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเติบโต และหนุนนำเศรษฐกิจของประเทศ มักจะถูกจับจอง “ตำแหน่ง” หรือ “เก้าอี้” จาก “ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล” หรือ “นอมินี” เข้ามา
แม้จะมีการปฏิเสธ แต่ก็คงบอกไม่เต็มปากว่า “ไม่ใช่คนของฝ่ายรัฐบาล” ที่ถูกส่งเข้ามา ซึ่งเป็นแบบนี้มาเกือบทุกยุคทุกสมัยที่จะต้องส่ง “คนของตน” เข้ามาดำรงตำแหน่งสูงสุด เพื่อควบคุมและสั่งการให้เกิดนโยบายให้เป็นไปตามแบบที่ต้องการ
แต่สำหรับองค์กร “ตลาดทุน” อย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่เพิ่งได้ “ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 19 แทน “พิชัย ชุณหวชิร” ถือได้ว่าเป็น “คนนอก” ที่ปราศจากความเป็นคนของฝั่งการเมือง อย่างแท้จริง
“ความขาวสะอาด” ที่ปราศจากการเมืองเข้าครอบงำ ของ “อาจารย์กิติพงษ์ หรืออาจารย์กิ๊ต” สามารถตรวจสอบได้จากประวัติการทำงานในอดีต และปัจจุบัน ที่สามารถค้นหาได้อย่างง่ายดายใน google
การได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งในบริษัทเอกชน หรือบริษัทจดทะเบียนตามเกียรติประวัติที่ปรากฏออกมาก็ไม่พบความเกี่ยวโยงทางด้านการเมืองแต่อย่างใด
ฉะนั้นความเหมาะสม ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตลาด จึงไม่มีข้อกังขาใดที่จะเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจากมุมใดก็ตาม
แต่..ก็ยังมีบางมุมมองที่ยังยึดถือ ความเป็นธรรมเนียมเก่า เอาไปตั้งเป็นประเด็นที่ว่า ตั้งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบไม่รอใบสั่งจากฝั่งการเมือง ถือเป็นเรื่องที่ “ไม่ปกติ”
แถมยังยุแยงตะแคงรั่ว ว่า หลังจากนี้อาจจะเกิด “สึนามิ” จากฝั่งการเมืองตามมา
ความคิด แบบนี้แหละ ที่ทำให้ “ตลาดทุน” ขาดการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างแท้จริง และมีตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน
เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเทศชาติย่ำอยู่กับที่ และเหมือนจะเดินถอยหลัง เมื่ิอเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะการเล่นพรรคเล่นพวก แบ่งฝั่งแบ่งฝ่าย เอาพวกของตนมาทำงาน ส่วนจะมีความสามารถด้านดังกล่าวหรือไม่ ประเด็นนี้เป็นเรื่องรองลงมา
ส่วนเรื่องที่มโน ถึงการเลือกประธานกรรมการตลาด ว่าจะมีผลของความ “ผิดปกติ” นั้น ถือเป็นการกล่าวอ้างที่อาจจะมีจินตนาการในเชิงลบค่อนข้างสูงพอสมควร
และไม่น่าเกี่ยวว่า เมื่อประธานที่ไม่ได้มาจาก “สายตรง” ของฝั่งการเมือง ทำให้มีผู้สมัครตำแหน่ง “ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ” มากถึง 7-8 ราย
ในทางตรงกันข้าม อาจจะเป็นเพราะ ปัญหาตลาดหุ้นไทย ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้ถูกปรับปรุง และแก้ไข รวมถึงมีการยกระดับกฎเกณฑ์ไปหมดแล้ว ก็เป็นได้
ในฐานะที่ อาจารย์ กิ๊ต เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตลท. ถือเป็นวาระสำคัญ ที่อยู่ระหว่าง “ความคาบเกี่ยว” ของสถานะการอยู่เหนือ 2 ผู้จัดการตลาด โดยมาดำรงตำแหน่งในยุคของ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 13 (ภากร ปีตธวัชชัย) ก่อนที่จะมีการส่งไม้ต่อไปยัง ผู้จัดการคนที่ 14 ในวันที่ครบวาระ วันที่ 19 กันยายน 2567
ฉะนั้น การเป็นเสาหลัก และเป็นประธานผู้อยู่ตำแหน่งสูงสุด ย่อมต้องมีความรู้ความสามารถโดยเนื้อในอย่างแท้จริง
หาได้ถูกแต่งตั้ง เพราะเป็น “สายตรง” หรือ คนจากฝั่งการเมืองส่งมา
จากนี้ไป ถือเป็นก้าวแรก ของการพิสูจน์ฝีมือของอาจารย์กิ๊ต อดีตประธานกรรมการ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ที่จะเข้ามาฟื้นฟูตลาดทุน โดยไม่มีคำว่า “คนของการเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแท้จริง
ธิติ ภัทรยลรดี