ห่วง GDP ไทยไตรมาส 2 ปี 2567
เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน สภาพัฒน์ ประกาศปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2567 รอบใหม่
เส้นทางนักลงทุน
เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน ส่งผลให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2567 รอบใหม่ โดยหั่นตัวเลขเหลือ 2-3% จากเดิม 2.2-3.2% มีค่ากลาง 2.5% ภายหลังไตรมาสแรกของปีขยายตัวต่ำเพียง 1.5%
ก่อนหน้านี้สภาพัฒน์เคยปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้มาแล้ว 1 รอบ จากราว 2.7-3.7% เหลือเติบโต 2.2-3.2% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวได้เพียง 1.9% เป็นการชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565 เพราะการลดลงอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออก รวมถึงการลดลงของการใช้จ่ายของรัฐบาล และการลงทุนภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม การหั่นตัวเลข GDP ของสภาพัฒน์รอบนี้ ไม่น่าแปลกใจ เพราะสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้นำร่องปรับการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ไปล่วงหน้าแล้ว โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.4% จากเดิมคาดเติบโต 2.8% มีช่วงคาดการณ์ระหว่าง 1.9-2.9%
ขณะที่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท), สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ก็สะท้อนความไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน จึงปรับลดกรอบประมาณการ เหลือขยายตัวเพียง 2.2-2.7% มองการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตลดลงเหลือเพียง 0.5-1%
ทั้งนี้ จะเห็นว่ามุมมองที่มีต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยไม่แตกต่างกัน เพราะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เองก็ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากภาคการส่งออกและการผลิต แต่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนตัวเลขอย่างเป็นทางการ จากเดิมที่มอง GDP ปีนี้จะเติบโต 2.5-3%
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช้ากว่าประเทศในกลุ่มอาเซียน ท่ามกลางความท้าทายมากมาย ขณะที่ความต้องการจากต่างประเทศ หรือดีมานด์ (Demand) อ่อนแอ กระบวนการผ่านงบประมาณล่าช้าในช่วงที่ผ่านมา และการเข้าสู่สังคมสูงวัย
ส่งผลให้ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลงเหลือโต 2.8% จากประมาณการเดิมที่ 3.2% โดยยังไม่รวมผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณปี 2567 ส่วนหนี้สาธารณะคาดว่าจะยังสูง
ขณะที่ ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ส่วนใหญ่ World Bank ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ขึ้น เช่น มาเลเซีย คาดโต 4.4% จาก 4.3%, ฟิลิปปินส์ 5.9% จาก 5.8% และเวียดนาม 6% จาก 5.5%
สำหรับการตัดสินใจหั่นตัวเลข GDP ของสภาพัฒน์รอบนี้ มีสัญญาณปัจจัยที่บ่งชี้ในไตรมาสแรก คือ ภาคการเกษตร ลดลง 3.5% หมวดอุตสาหกรรม ลดลง 3% การใช้จ่ายรัฐบาล ลดลง 2.1% การลงทุนรวม ลดลง 4.2% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ลดลง 27.7%
ความเสี่ยงด้านการส่งออกมีมากขึ้นทั้งปัญหาจากสงครามการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่อาจกระทบการส่งออกไทยให้ลดลงได้ หรือเติบโตได้น้อยกว่าที่คาด จึงถือเป็นปัจจัยลบที่สำคัญไม่น้อย
นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังต้องเผชิญปัญหาด้านการแข่งขันรุนแรง เนื่องจากคู่แข่งของไทย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม มีค่าแรงถูกกว่า ส่งผลให้ไทยสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน
สำหรับภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนั้น แม้จำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นโดยช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 มียอดสะสม 9.4 ล้านคน แต่การใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว (Spending per Head) ยังต่ำกว่าปี 2562 เพราะมีการใช้จ่ายอยู่ที่ 45,760 บาท จากค่าเฉลี่ย 47,895 บาท ในปีดังกล่าว
สิ่งที่ทุกฝ่ายเป็นห่วงและกำลังจับตามองก็คือ ในระยะข้างหน้า นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นไป ภาคการผลิตและภาคการเกษตรว่าจะกลับมาได้หรือไม่ เพราะหากยังไม่กลับมา จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตัวเลข GDP ของไทยอาจพลิกกลับขยับดีกว่าประมาณการได้ หากโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะออกมาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีการประเมินว่าจะอยู่ที่ 0.5-1.0%