พาราสาวะถี

วันนี้ (23 พ.ค.67) จับตาการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นร้อน 40 ส.ว.เข้าชื่อส่งประธานวุฒิสภายื่นให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน และ พิชิต ชื่นบาน สิ้นสุดลงหรือไม่


วันนี้ (23 พฤษภาคม) จับตาการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นร้อน 40 สว.เข้าชื่อส่งประธานวุฒิสภายื่นให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน และ พิชิต ชื่นบาน สิ้นสุดลงหรือไม่ โดยจะเป็นการพิจารณาว่าจะรับเรื่องไว้เพื่อเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยหรือไม่ การไขก๊อกจากเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะมีผลต่อการพิจารณาหรือไม่ แต่ตามกฎหมายแล้วคงต้องเดินหน้า ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาอย่างอดีตรัฐมนตรีฯ แม้ไม่มีหัวโขน ก็ต้องไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามขั้นตอนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเฝ้าจับตาของทุกฝ่าย ก็ปรากฏว่ามี “เอกสารลับที่สุด” ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหลุดรอดออกมา เกี่ยวกับการตีความปมปัญหาคุณสมบัติของพิชิตตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีถามมา จน ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องปฏิเสธตอบคำถามนักข่าว พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่า เอกสารหลุดมาได้อย่างไร ก่อนจะชี้ว่าคำตอบเป็นไปตามที่มีการถามมา เมื่อเรื่องถึงศาลแล้วก็ไปว่ากันตามนั้น

เมื่อพิจารณาจากเอกสารดังกล่าว กรณีนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับไว้เพื่อพิจารณา จึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับปมการขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของพิชิต เพราะคำตอบที่กฤษฏีกาได้อธิบายนั้นชัดเจนคือ มาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยใน (6) ของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 

ในมาตรา 98 (7) กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่า “เคยได้รับโทษจําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ” ดังนั้น การได้รับโทษจําคุกไม่ว่าโดยคําพิพากษาหรือคำสั่งใดจึงเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กรณีของพิชิตที่แม้จะไม่ใช่คำพิพากษาแต่เป็นคำสั่ง จึงเข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม แต่เจ้าตัวได้พ้นโทษเกินสิบปีมาแล้ว ถือเป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ขณะเดียวกัน มาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จําคุก ดังนั้น ผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก

การพิจารณาประเด็นเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่เพียงแค่พิชิตที่จะรอด แต่หมายถึงเศรษฐาก็ไม่อยู่ในข่ายเป็นผู้กระทำผิดด้วย เพราะได้ตรวจสอบตามกระบวนการของกฎหมายโดยถูกต้องทุกประการ แต่การยื่นของ 40 สว.มีอีกประเด็นที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั่นก็คือ การอ้างเหตุมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) ประเด็นที่ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

อันถือเป็นเรื่องใหม่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ คำถามก็คือ จะตีความคำว่าซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์อย่างไร เช่นเดียวกับพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ถือเป็นเรื่องนามธรรมที่จะต้องอธิบายให้สังคมยอมรับได้ หากมีการรับไปวินิจฉัยแล้วเกิดการตีความส่งผลในทางลบต่อผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ไม่ว่าจะนายกฯ หรือรัฐมนตรีผู้ถูกร้องก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าการชี้ขาดเรื่องใดก็ตาม มันจะมีผลผูกพันและเป็นบรรทัดฐาน เว้นเสียแต่ว่าจะอ้างว่าบรรทัดฐานเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

ทั้งนี้ พิจารณาจากอาการของพิชิตที่ประกาศว่าตัวเองเป็นองครักษ์พิทักษ์นายกฯ เศรษฐา และเคยเป็นมาแล้วหลายนายกฯ ก็เป็นเพียงแอ็กชันที่ต้องการจะแสดงความภักดีต่อผู้มีพระคุณเท่านั้น เช่นเดียวกับการกล่าวหาว่ามีวงจรอุบาทว์ ที่ต้องการจะเล่นงานเศรษฐาให้กระเด็นตกเก้าอี้ผู้นำประเทศ แม้ความจริงจะเป็นที่รับรู้กันอยู่ว่ามีขบวนการเช่นนั้นอยู่ แต่ปัญหาทั้งหลายแหล่จะไม่เกิดขึ้น หากผู้มีอำนาจที่แท้จริงไม่เร่งรัดที่จะตอบแทนบุญคุณหน่วยกล้าตายจนเกินไป 

ถามว่ามือกฎหมายของพรรคเพื่อไทยที่จะมาเป็นรัฐมนตรีไม่มีแล้วหรืออย่างไร ถึงต้องเสี่ยงใช้บริการคนที่รู้อยู่ว่าจะตกเป็นเป้าหมายในการโจมตี หรือมีความมั่นใจเป็นอย่างสูงยิ่งว่าหลังการปิดดีลเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับบ้านอย่างเท่ ๆ แล้ว ทุกอย่างจะเข้าทางนายใหญ่ ต้องไม่ลืมว่า การถูกเล่นงานจากรัฐประหารกันยายน 2549 และต่อเนื่องยาวนานจนเกือบจะ 20 ปีนั้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการเหลิงอำนาจของผู้นำในเวลานั้นนั่นเอง

หนนี้ก็เช่นกัน บรรดาผู้ร่วมคณะเดินทางในรัฐบาลพลิกขั้ว เริ่มที่จะพากันเสียวสันหลังกันบ้างแล้ว หลังจากที่ได้เห็นลีลาการขับเคลื่อนทางการเมืองของนายใหญ่ อดเป็นห่วงไม่ได้ หากอำนาจที่หนุนหลังยังเหนียวแน่น บรรดาอีลิทยังคงไว้วางใจให้การสนับสนุนก็อาจจะคุ้มกับการกล้าเสี่ยงลุยไฟ แต่ถ้าแนวโน้มจะหวนกลับคืนไปเหมือนช่วงก่อนสถานการณ์ความขัดแย้ง ถือว่าเป็นภาวะที่น่าห่วง ซึ่งนอกเหนือจากต้องติดตามผลของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังต้องลุ้นคดีความที่มีอยู่ของผู้ยิ่งใหญ่ตัวจริงด้วย

อีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ที่ถูกวิจารณ์มาโดยตลอด ล่าสุดจากคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯภาค 2 ยกฟ้อง อิทธิพล คุณปลื้ม กับพวก 4 ราย ออกใบอนุญาตโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ เหตุคดีขาดอายุความ พร้อมระบุ ป.ป.ช.มีพฤติการณ์ไม่ได้มุ่งหมายให้การดำเนินคดีอยู่ภายในกรอบเวลาการฟ้องคดี ชวนให้เกิดคำถามจากสังคมว่า ทำงานกันแบบไหน ยังมีปมไม่ยอมส่งเอกสารผลสอบคดีนาฬิกาเพื่อนให้ วีระ สมความคิด ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดอีก ชักไม่แน่ใจแล้วว่าจะมีคนต้องติดคุกตอนแก่เพราะเอาแต่ตอบแทนบุญคุณคนที่เคยคุ้มกะลาหัวกันหรือไม่

อรชุน

Back to top button