บทเรียน(ร้าย)สาธารณสุขอังกฤษ

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา “ริชี ซูนัค” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวคำขอโทษต่อสาธารณชน พร้อมประกาศจ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ


ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา “ริชี ซูนัค” นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลอังกฤษ กล่าวคำขอโทษต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศจ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ จากการรับเลือดปนเปื้อนจากผู้ติดเชื้อ HIV และไวรัสตับอักเสบซี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970

“นี่เป็นความอับอายสำหรับรัฐอังกฤษเสียใจจริง ๆ เพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวทางศีลธรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของชีวิตคนในชาติของเรามานานหลายทศวรรษ ผมต้องการขอโทษอย่างสุดหัวใจและชัดเจน และสัญญาจะจ่ายค่าชดเชยให้กับเหยื่อ”

มีรายงานว่าต้นทุนการชดเชยทั้งหมด อาจสูงถึงหลายพันล้านปอนด์ รัฐบาลจะเริ่มชดเชยก่อนสิ้นปีนี้โดยได้รับการยกเว้นภาษี รวมถึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ของผู้เสียหาย

ถือเป็นบทเรียนร้ายและหายนะทางประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษที่ช่วง ค.ศ. 1970 เกิดภาวะขาดแคลนเลือด จนต้องนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ที่มีผู้บริจาคหลายหมื่นราย หนึ่งในกลุ่มนั้นเป็นเหล่านักโทษในเรือนจำและผู้เสพยาในประเทศ ทำให้การบริจาคโลหิตในสหราชอาณาจักรไม่ได้รับการคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี มาจนกระทั่งปี 1991

ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,400 รายทั่วสหราชอาณาจักร

“หายนะสาธารณสุขอังกฤษ” เกิดขึ้น ช่วงระหว่างปี 1970-1990 มีผู้ป่วยในประเทศอังกฤษกว่า 30,000 คน ติดเชื้อ HIV และเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จากการให้เลือดที่ปนเปื้อนเชื้อและไม่ได้ผ่านการตรวจคัดกรอง และส่งผ่านเชื้อโรคไปให้คู่นอนและบุตร และมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน นับเป็นเรื่องอื้อฉาวทางการแพทย์ครั้งใหญ่ของ National Health Service (NHS) หรือระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของประเทศอังกฤษ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ คือ ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia โรคเลือดออกผิดปกติทางพันธุกรรม และโรคนี้เองที่ทำให้ราชวงศ์รัสเซียล่มสลายมาแล้ว) มีความจำเป็นจะต้องได้ Factor VIII และ Factor IX ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากพลาสมาของเลือด และต้องได้รับอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และช่วงปี 1970 Factor VIII และ Factor IX ขาดแคลนในประเทศอังกฤษ

รัฐบาลจึงต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ สมัยนั้นมีการซื้อขายเลือดอยู่ ผู้ที่มาขายเลือดมีหลากหลายและบางส่วนเป็นนักโทษคนติดยา หรือใครก็ตามที่ร้อนเงิน และจำนวนไม่น้อยติดเชื้อ HIV และเชื้อไวรัสตับอักเสบซี โดย Factor VIII และ Factor IX ที่ให้ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียหนึ่งคนต่อหนึ่งครั้ง มาจากเลือดผู้บริจาค (ซื้อขาย) เลือดจำนวนมากรวมกัน แค่มีเลือดของผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียว ทั้งถุงก็เกิดการปนเปื้อนได้

ผู้ป่วยอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับเลือดจากการรักษาพยาบาล เช่น อุบัติเหตุเสียเลือดมาก ต้องได้รับการผ่าตัดใหญ่หรือเป็นโรคเรื้อรังต้องได้รับเม็ดเลือดแดง กลุ่มนี้ภายหลังพบว่ามีการติดเชื้อ HIV และเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเช่นกันแม้จะจำนวนน้อยกว่า เพราะได้รับเลือดเพียงไม่กี่ครั้ง 

ช่วงปี 1983 มีบริษัทยาเก็บข้อมูลและพบว่ามีผู้ป่วยฮีโมฟีเลียหลายคนติดเชื้อ HIV และเสียชีวิตจากโรคเอดส์ พวกเขาเก็บข้อมูลนี้เป็นความลับ ที่ผ่านมามีหลายคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการให้เลือดแต่ไม่มีผู้มีอำนาจที่สนใจ ทั้งที่ความรู้ว่าโรคเหล่านี้ติดต่อผ่านการให้เลือดมีตั้งแต่ช่วง 1970s และสามารถตรวจสอบได้แล้ว (ความเป็นจริงคือตรวจสอบทุกถุงเลือดค่าใช้จ่ายสูงมาก)

สำหรับเหยื่อผู้เสียหายครั้งนี้ มีตั้งแต่ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดและผลิตภัณฑ์เลือดโดยตรง ผู้ป่วยที่เป็นลูกหรือคู่นอนของผู้รับเลือด จนถึงญาติของผู้เสียชีวิตต่างรอคอยความเป็นธรรมจากรัฐบาลกว่า 40 ปี จนปี ค.ศ. 2017 เริ่มมีการพิจารณาคดี มีการรวบรวมเอกสารกว่า 10,000 ฉบับ และพยานกว่า 5,000 คน

Back to top button