พาราสาวะถี

เป็นอันว่าคดีผิดมาตรา 112 ที่ ทักษิณ ชินวัตร เคยถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้องไปเมื่อปี 2559 แล้วหยุดชะงักไป เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้อยู่ในประเทศ


เป็นอันว่าคดีผิดมาตรา 112 ที่ ทักษิณ ชินวัตร เคยถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้องไปเมื่อปี 2559 แล้วหยุดชะงักไป เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้อยู่ในประเทศนั้น หลังจากเดินทางกลับประเทศ และรับโทษในคดีอื่นจนได้รับการพักโทษ และทางอัยการสูงสุดได้ดำเนินการตามขั้นตอนจนถึงกระบวนการนัดฟังคำสั่งคดีเมื่อวานนี้ (29 พฤษภาคม) หลังจากที่ได้มีการเลื่อนนัดมาก่อนหน้า สรุปว่า อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งผิดมาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ตามขั้นตอนแล้วต้องมีการนำตัวผู้ถูกกล่าวหาไปยื่นฟ้องต่อศาล แต่ว่าทักษิณได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดหนึ่งวันก่อนหน้า ระบุว่าป่วยด้วยการติดโควิด-19 ทำให้ทางอัยการเลื่อนให้อดีตนายกฯ มาพบเพื่อนำตัวไปฟ้องศาลเป็นวันที่ 18 มิถุนายนนี้ โดยที่ทางโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ก็ยืนยันว่าการเลื่อนทำนองนี้ไม่เสียหายต่อความยุติธรรม และไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความเห็นคำสั่งของอัยการสูงสุด สุดท้ายก็ต้องไปว่ากันในชั้นศาล

ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย อย่างที่บอกกรณีนี้ออกได้ 3 หน้าคือ สั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง หรือเลื่อนนัดฟังคำสั่ง เมื่อบทสรุปจากทางอัยการออกมาในลักษณะนี้ เป็นหน้าที่ของทักษิณที่จะต้องไปสู้ตามกระบวนการ ฟังจาก วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความแล้ว พอจะเห็นแนวทางการต่อสู้ ขณะเดียวกัน พิจารณาจากสิ่งที่ได้ดำเนินการกันไปก่อนที่อัยการสูงสุดจะมีความเห็น น่าจะพอเข้าใจกันได้ว่า มันไม่มีทางเลือกอื่นเพื่อที่จะรักษาความน่าเชื่อถือขององค์กรไว้ จะได้ไม่ถูกมองว่าอยู่ภายใต้อำนาจชี้นำของฝ่ายบริหาร

ต้องไปพิสูจน์กันเหมือนที่ทนายความของทักษิณว่า คลิปที่มีการนำมากล่าวหานั้นผ่านการตัดต่อเพื่อให้ร้ายหรือไม่ นอกจากนั้น หลังการเดินทางกลับประเทศอดีตนายกฯ ก็ได้ร้องขอความเป็นธรรมกับทางอัยการสูงสุดแล้ว เป็นการยื่นขอความเป็นธรรมในหลายประเด็น หลังจากที่มีการนำตัวฟ้องต่อศาลแล้ว หรือก่อนหน้านั้น อาจจะมีการเปิดเผยรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เท่าที่รู้จากทีมงานใกล้ชิดคดีนี้ไม่ได้สร้างความหนักใจแก่นายใหญ่แต่อย่างใด

เมื่อคดีความของทักษิณเดินไปตามครรลองแบบนี้ ย่อมเป็นผลดีต่อ เศรษฐา ทวีสิน ที่จะไม่ต้องตกเป็นเป้าโจมตีถ้าหากคดีดังกล่าวอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องขึ้นมา ความน่าสนใจหากจะมองเป็นความสอดคล้องกันในเชิงมิติทางการเมือง คงเป็นเรื่องคดีที่นายกรัฐมนตรีถูกร้องจากกลุ่ม 40 สว. แม้จะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่ก็เชื่อกันว่า หากคดีของใครคนใดคนหนึ่งรอด ก็พอจะเห็นแนวโน้มของอีกคนว่า น่าจะเป็นไปในทิศทางบวก

การเตรียมตัวแต่งตั้ง วิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในเชิงส่วนตัวคงไม่ได้หวังที่จะให้เข้ามาช่วยเศรษฐาเพื่อรอดในคดี แต่เป็นที่รู้กันว่าเส้นทางของรัฐบาลที่ยังเหลือเวลาอีกหลายปีนั้น ต้องเผชิญกับความท้าทายในกระบวนการตรวจสอบจากหลายฝ่าย มือกฎหมายที่มีของพรรคเพื่อไทยคงไม่เพียงพอที่จะต่อกรได้ ต้องอาศัยเนติบริกรชั้นครู และไม่ใช่เรื่องต้องแปลกประหลาดใจใด ๆ เมื่อย้อนกลับไปดูก็จะเห็นว่าเจ้าตัวเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายในยุคใด

ไม่มีอะไรซับซ้อน การเมืองที่ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร โดยเฉพาะกับคนชื่อวิษณุด้วยแล้ว ถือเป็นนักกฎหมายที่ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาลก็อยากที่จะใช้บริการ อยู่ที่ว่าเจ้าตัวจะตอบรับเงื่อนไขที่ถูกร้องขอหรือไม่เท่านั้นเอง หนนี้ก็เช่นกัน ไม่ใช่เพียงแค่เคยรู้จักมักคุ้นกับนายใหญ่ตั้งแต่สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ไม่ใช่เพราะมีความสนิทสนมส่วนตัวกับเศรษฐา แต่ทั้งหมดเป็นภารกิจที่ต้องเข้ามาช่วยดูแลแก้ไขปัญหาบริบททางกฎหมายหลายประการ ซึ่งมองเห็นว่าเป็นข้อผิดพลาดตั้งแต่การรัฐประหาร จนกระทั่งรัฐบาลสืบทอดอำนาจแต่ไม่สามารถแก้ไขได้

การเข้ามาอยู่ร่วมรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งของประชาชน ก็จะเป็นโอกาสในการผลักดันเพื่อให้เกิดการเสนอข้อกฎหมายแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น หลังจากนี้ให้รอดูทางรัฐบาลจะมีการนำเสนอร่างข้อกฎหมายหลายฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภา ส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และอยู่ระหว่างรอการเข้าที่ประชุมของสภา ก็จะได้รับการตรวจสอบ แก้ไขเพื่อให้มีความรอบคอบ รัดกุมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมายประชามติ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลต้องการให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงจุดนั้น มีบรรดานักกฎหมายหลายรายตั้งข้อสงสัยว่า การจะเซ็นคำสั่งตั้งวิษณุให้เป็นที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการ ครม.นั้น สามารถทำได้หรือไม่ น่าจะเป็นแค่กระพี้ เพราะเศรษฐาคงไม่สุ่มสี่สุ่มห้าไปเชิญคนระดับเนติบริกรชั้นครูให้มาร่วมทำงาน โดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในข้อกฎหมายใด ๆ ที่สำคัญผู้ที่จะเข้ามามีตำแหน่งแห่งหน ย่อมให้คำแนะนำแล้วว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะต้องให้ความสนใจ ที่น่าติดตามคือ เข้ามาแล้วจะใช้ให้ทำงานสำคัญอะไรมากกว่า

ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองทั้งหลาย หลังปิดสมัยประชุมสภาก็จะเงียบเหงาเป็นธรรมดา ในซีกฝ่ายค้านก้าวไกลอยู่ระหว่างการเตรียมตัว ตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในเดือนหน้าช่วงของการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ แม้ระดับนำต้องการที่จะให้มีการแกะรอยงบประมาณอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกองทัพเพื่อหวังจะทำให้สังคมเห็นว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญและเอาใจคนมีสีเป็นพิเศษ แต่ สส.ส่วนใหญ่กลับไม่มองอย่างนั้น 

เป็นธรรมดาเมื่อเข้าสู่ปีที่สองของการเป็นผู้แทน ย่อมมองไปถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงมองหาหนทางว่าจะมีส่วนใดของงบประมาณที่พอจะขอรับการสนับสนุนจากฝ่ายกุมอำนาจ ไม่ใช่เพื่อหวังที่จะสร้างฐานเสียงไว้รอ แต่ต้องการที่จะตุนกระสุนไว้เผื่อครั้งหน้าหมดโอกาสกลับมา เหมือนพวกงูเห่าหลายรายถึงจะสอบตกแต่ครอบครัวก็อยู่กันสุขสบาย นั่นจึงเป็นอีกปัญหาที่แกนนำพรรคแก้ไม่ตก แม้จะชูความเป็นคนรุ่นใหม่ ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ทว่าหลังคัดกรองคนเข้าสู่ชายคาแล้วกลับพบว่ายึดผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าอุดมการณ์ และจุดยืนของพรรค

อรชุน

Back to top button