KEX ขาดรถส้ม.!

ท่ามกลางสมรภูมิตลาดขนส่งพัสดุที่แข่งขันกันดุดือด โดยปี 2566 มีมูลค่ากว่า 1.15 แสนล้านบาท เติบโตต่อเนื่องตามการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซ


ท่ามกลางสมรภูมิตลาดขนส่งพัสดุที่แข่งขันกันดุดือด โดยปี 2566 มีมูลค่ากว่า 1.15 แสนล้านบาท เติบโตต่อเนื่องตามการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซนั้น เชื่อว่าหนึ่งในแบรนด์ที่คุ้นตา หนีไม่พ้นแบรนด์ Kerry Express” ของบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ซึ่งมีรถส้มเป็นหัวหอกในการให้บริการขนส่งพัสดุทั่วไทย…จะใกล้หรือไกล แม้กระทั่งบนดอยก็ส่งได้…!!

เรียกว่าถ้าใครไม่เคยใช้บริการรถส้มก็เชยระเบิดระเบ้อว่างั้น..!?

อ้อ…ในตลาดรถส้มของ Kerry Express ซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์ราว 20.1% เป็นรองแค่รถแดงของไปรษณีย์ไทย ที่มีมาร์เก็ตแชร์ 23.5% เท่านั้น

แต่นับตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2568 เป็นต้นไป เราจะไม่เห็นรถส้มของ Kerry Express ตระเวนส่งพัสดุตามตรอก ซอก ซอย อีกต่อไปแล้ว…เนื่องจากเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา KEX ได้ถูกบอกเลิกสัญญาในการใช้สิทธิแบรนด์ Kerry Express จาก Kuok Registrations Limited หรือ KRL ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิเดิมไปแล้ว โดยเป็นการบอกเลิกสัญญาฯ ล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 9 เดือน…เท่ากับว่าสิทธิในการใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าแบรนด์ Kerry Express จะสิ้นสุดลงในวันที่ 22 ก.พ. 2568

ถือเป็นการปิดตำนานขนส่ง Kerry Express ในประเทศไทยไปโดยปริยาย..!? ซึ่ง KEX แก้เกมโดยจะปลุกปั้นแบรนด์ที่ชื่อ KEX ขึ้นมาแทน…

ส่วนสารตั้งต้นของเรื่องนี้ สืบเนื่องมาจาก KEX มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่…จากเดิม Kerry Logistics Network Limited (KLN Group) ในกลุ่ม KRL ซึ่งถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (KLNTH) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เปลี่ยนมาเป็น S.F. Holdings Co., Ltd. (SF) ซึ่งถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประ เทศไทย) จำกัด (SFTH) แทน

โดย S.F. Holdings Co., Ltd. (SF) เป็นบริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่จากจีน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น ในขณะที่ KLN Group พื้นเพเดิมมาจากประเทศมาเลเซีย แต่ไปเติบโตในฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ปัจจุบันจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ฮ่องกง

เข้าทำนองเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ละมั้ง…

เมื่อเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้ KLN Group ไม่มีอำนาจในการควบคุมหรือมีปากมีเสียงใน KEX อีกต่อไป ประกอบกับเงื่อนไขในสัญญา สิทธิการใช้แบรนด์ Kerry Express ครอบคลุมแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ในกรณีที่ KEX อยากจะใช้แบรนด์ Kerry Express และเครื่องหมายการค้าและบริการที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ จะต้องเจรจากับ KRL ก่อน ซึ่งอาจทำให้ KEX มีข้อจำกัดในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ หรืออาจต้องสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเองเพื่อใช้ต่างประเทศ

นี่คงเป็น 2 เหตุผลหลักที่ทำให้ KRL กับ KEX มาถึงจุดแตกหัก…ต้องแยกทางกัน..!!

ถ้าย้อนดูที่มาที่ไปของ Kerry Express จะเห็นรถส้มมาโลดแล่นบนท้องถนนในประเทศไทยมากว่า 18 ปีแล้ว หรือตั้งแต่ปี 2549 ในชื่อบริษัท เคอรี่ ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี “หม่า วิง โค วิลเลี่ยม” ซึ่งเป็นผู้บริหารของ KLN เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ต่อมาในปี 2557 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด จากนั้นในปี 2561 มีบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 23% กระทั่งช่วงปลายปี 2563 ก็เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในชื่อหลักทรัพย์ KEX ด้วยไอพีโอ 28 บาท

KEX เข้าตลาดฯ มาพร้อมกับแบกความคาดหวังว่าจะได้ประโยชน์จากเทรนด์ค้าขายออนไลน์ หรือธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยที่กำลังโตระเบิดระเบ้อ แต่หลายคนคงลืมคิดไปว่า ตลาดนี้เต็มไปด้วยคู่แข่งมากหน้าหลายตา จนเกิดสงครามราคา สุดท้ายก็บาดเจ็บล้มตายกันไป ในขณะที่ KEX ประสบปัญหาขาดทุนเรื้อรังมาหลายปีแล้ว…

ก็น่าจับตา KEX ในวันที่ขาดรถส้ม…กับภารกิจปลุกปั้นแบรนด์ใหม่ KEX จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน..??

ที่สำคัญจะหยุดยั้งภาวะขาดทุนได้เมื่อไหร่..?? เป็นสิ่งที่นักลงทุนอยากรู้มากที่สุด

ว่าแต่ไม่มีรถส้มแล้ว…ต่อไป KEX จะเป็นรถ (สี) อะไร…ชักอยากเห็นแล้วสิ

…อิ อิ อิ…

Back to top button