50 ปี ตลาดหุ้นไทย ‘ความมั่งคั่ง-การซื้อขาย’ ถดถอย

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ผ่านร้อนผ่านหนาวและกำลังก้าวเข้าสู่วัย 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งและได้เปิดทำการซื้อขายอย่างเป็นทางการ


เส้นทางนักลงทุน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ผ่านร้อนผ่านหนาวและกำลังก้าวเข้าสู่วัย 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งและได้เปิดทำการซื้อขายอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 แต่จนถึงวันนี้ หากใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม หรือมาร์เก็ตแคป (Market Cap) และมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมาเป็นเครื่องชี้วัด อาจจะเรียกได้ว่า “ถดถอย”

ตลาดหุ้นไทยในปี 2567 เดือนพฤษภาคมกำลังจะผ่านไป ท่ามกลางความเงียบเหงาของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET index) ที่ยังไม่สามารถฝ่าทะลุเหนือ 1,400 จุด ขึ้นไปได้ ขณะที่มูลค่าการซื้อขายบางเฉียบ

หากมองสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นไทยต้องฝ่าฟันอุปสรรคมาในช่วง 4-5 ปีย้อนหลัง พบว่าในปี 2563 ยามที่ตลาดหุ้นไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันยังอยู่ที่ 6.73 หมื่นล้านบาท จากนั้นขยับเพิ่มขึ้นเป็น 8.84 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 และ 7.12 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 ส่วนปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.11 หมื่นล้านบาท แต่ 5 เดือนแรกของปี 2567 นี้ ลดวูบเหลือหลัก 4 หมื่นล้านบาท บางวันก็ต่ำกว่า มูลค่าการซื้อขายใน SET หายไป 30-40%

ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 มาร์เก็ตแคปของ SET หายไปประมาณ 5 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 16.20 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 16.7 ล้านล้านบาท

ส่วนปี 2564 แม้พิษโควิดยังไม่จางหาย มาร์เก็ตแคปก็ยังขยับขึ้นไปที่ 19.59 ล้านล้านบาทได้ และมาอยู่ที่ 20.44 ล้านล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งในปีนั้นหากเปรียบเทียบกับอัตราส่วนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ถือว่ามาร์เก็ตแคปมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันนี้มาร์เก็ตแคปลดเหลือเพียง 16.85 ล้านล้านบาท ขณะที่ SET index นับตั้งแต่ต้นปีถึงตอนนี้ ติดลบเกือบ 4%

หากนับเฉพาะปัจจัยจากสถานการณ์ล่าสุด ตลาดหุ้นไทยถูกกดดันจากปัจจัยภายในและภายนอก ประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน ขอให้พิจารณาความเป็นรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ “พิชิต ชื่นบาน” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งลาออกไป และภาวะเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่เต็มที่

ขณะที่ มีปัจจัยภายนอกคือช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เนื่องจากท่าทีของคณะกรรมการนโยบายการเงินยังไม่มั่นใจในทิศทางของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ หลังเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

นักลงทุนยังไม่เชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทยแม้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะโชว์ศักยภาพความแข็งแกร่งของผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ของปี 2567 ออกมาดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2566

โดยบจ.ใน SET มียอดขาย 4,398,203 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% และมีกำไรสุทธิ 264,805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนบจ.ในตลาด mai มียอดขายรวม 54,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2% มีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 5,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.2% และกำไรสุทธิ 4,607 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.2%

ทั้ง ๆ ที่ผลประกอบการส่วนใหญ่ของบจ.ออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ จะเป็นปัจจัยให้นักวิเคราะห์ปรับเพิ่มประมาณการกำไรบจ.ทั้งปีนี้ขึ้น ก็ไม่จูงใจให้น่าสนใจมากขึ้น

หลายมาตรการที่ SET ประกาศออกมา การยกระดับการกำกับดูแลการซื้อขายให้เข้มงวดมากขึ้นทั้งในส่วนของการดูแลการขายชอร์ต, โรบอทเทรดดิ้ง รวมทั้งเร็ว ๆ นี้ จะมีการยกระดับมาตรการกับดูแลการซื้อขายที่ไม่เหมาะสมและลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคา โดยจะเพิ่มมาตรการหยุดการซื้อขายโดยอัตโนมัติ (Auto Halt) หากปริมาณการเสนอซื้อหรือขายรวมของหลักทรัพย์มากกว่า 15%

เพิ่มการกำหนดกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band ที่ +10% และเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการกำกับการซื้อขาย กรณีหลักทรัพย์มีสภาพการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ นักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกว่าน่าจะช่วยจำกัด Downside ของตลาดได้บ้าง แต่ลึก ๆ แล้วมาตรการเหล่านี้ก็อาจจะส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายลดลงได้ โดยเฉพาะในระยะสั้น

ความหวังจึงมุ่งไปยังการนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกลับมากระตุ้นเม็ดเงินให้ไหลกับเข้าลงทุนใน SET รวมทั้งการเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กว่าจะออกได้คงจะเป็นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีแล้ว

ณ ตอนนี้ ความหวังใหม่ของตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นอีก พุ่งเป้าไปที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล ก็ได้แต่หวังว่าความหวังเหล่านี้จะกระตุ้นให้หุ้นไทยสดใสรับปีที่ 50 นะ

Back to top button