พาราสาวะถี
ประเด็นตั้ง วิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรียังคงถูกกองแช่งและฝ่ายเสี้ยมตามเย้ยหยันยุแยงเพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคแกนนำรัฐบาล
ประเด็นตั้ง วิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยังคงถูกกองแช่งและฝ่ายเสี้ยมตามเย้ยหยัน ยุแยงเพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคแกนนำรัฐบาล เป็นธรรมดาของคนที่อยู่เบื้องหลัง รวมทั้งพวกที่ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมหวังผลลักษณะยิงกระสุนนัดเดียวได้ผลสองทางคือ สอย เศรษฐา ทวีสิน ให้กระเด็นตกจากเก้าอี้นายกฯ เมื่อนั้นย่อมเกิดความระส่ำภายในพรรคร่วมรัฐบาล เป็นโอกาสของคนที่ต้องการจะเป็นนายกฯ ได้เบียดแทรกเข้ามา พูดง่าย ๆ หวังว่าส้มหล่นใส่เท้าแบบเต็ม ๆ
ปรากฏว่าหลังจากที่เศรษฐาเดินเกมเข้าพบเนติบริกรชั้นครู เพื่อรับคำปรึกษาสู้คดีพร้อมตั้งเป็นที่ปรึกษาอีกต่างหาก ได้สร้างความหวั่นไหวกับพวก 40 สว.อย่างหนัก อาจจะปากกล้าว่าพร้อมที่จะไปว่ากันในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขาสั่นเพราะงานนี้เจอของจริง และเป็นการแสดงให้เห็นว่าพี่น้องแก๊ง 3 ป.นั้น แยกทางกันอย่างสิ้นเชิงในทางอำนาจแล้ว ส่วนความต้องการที่จะให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทยนั้น ยิ่งเป็นไปได้ยาก สส.หรือสมาชิกที่ไม่พอใจกับการตั้งวิษณุแค่ส่วนน้อย
เมื่อได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังแล้ว ยิ่งทำให้ต้องเงียบกันไปโดยปริยาย ชัดเจนตามที่ ภูมิธรรม เวชยชัย ผู้จัดการรัฐบาลบอก ที่นายกฯ ตั้งวิษณุให้มาช่วยงาน เป็นการช่วยในสิ่งที่เนติบริการรายนี้รู้ และได้ประโยชน์กับประเทศชาติ ช่วงเริ่มจัดตั้งรัฐบาลก็พยายามที่จะสลายฝักฝ่ายอยู่แล้ว ใครที่มีความรู้ก็พยายามที่จะเชิญมาช่วยงาน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลพูดชัดเจนตั้งแต่ตั้งรัฐบาลแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่จะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่เป็นเรื่องว่าประเทศต้องการอะไรและอะไรที่เป็นประโยชน์
ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล และต้องไม่ลืมว่านี่คือคนที่นายใหญ่ไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง การการันตีว่าที่เศรษฐาตั้งวิษณุเป็นที่ปรึกษาถือว่ามีความเหมาะสมแล้ว พร้อมกันการตัดจบ ส่งสัญญาณว่าทุกอย่างในพรรคแกนนำรัฐบาลไร้ปัญหานั่นก็คือ ยังไม่ได้ยินกระแสของคนในพรรคเพื่อไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งวิษณุ สำหรับพวกที่สงสัยแล้วยังไม่ได้รับคำชี้แจง หรืออาจจะรู้อยู่แล้วแต่ยังไม่ลึกพอ การประชุมพรรควันนี้ (4 มิถุนายน) ทุกอย่างก็จะถึงบางอ้อ และกรณีนี้ในซีกรัฐบาลก็จะไม่มีการพูดถึงกันอีก
จะเห็นได้ว่าการตัดสินใจตั้งเนติบริกรชั้นครูมาเป็นที่ปรึกษาของเศรษฐานั้น ถูกที่ถูกเวลาก็คือการยืนยันจากท่านผู้นำว่าได้ทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว และมีการปรึกษาวิษณุด้วย แนวทางการต่อสู้เช่นนี้มองไปยังปลายทางจึงไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจอะไร ยิ่งอีกฝ่ายมีความเคลื่อนไหวแสดงความมั่นอกมั่นใจ หรือทำตัวให้ปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้ง กลับจะเป็นการฉายภาพให้เห็นความหวั่นไหว ดีไม่ดีจะเข้าข่ายชี้นำหรือกดดันกระบวนการพิจารณาก่อนวินิจฉัยไปเสียฉิบ
บทบาทของวิษณุอาจจะได้เห็นเด่นชัดมากขึ้น กับการประชุม ครม.ในวันอังคารนี้ หากมีการเข้าร่วมประชุมตามที่ปรากฏเป็นข่าว เพราะหลายเรื่องที่เป็นปมถกเถียงกันในแง่ข้อกฎหมาย หรือความไม่เด็ดขาดต่อการตัดสินใจว่าจะเป็นปัญหาหรือไม่ จะได้รับคำชี้แนะจากที่ปรึกษานายกฯ ด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ เหมือนที่เศรษฐาบอกตอนเชิญวิษณุมาเป็นที่ปรึกษา หลายเรื่องถกกันในที่ประชุมไม่จบเพราะคนที่ไม่รู้มาเถียงกัน
เมื่อพิจารณาในคำสั่งแต่งตั้ง ข้อหนึ่งจะพบว่าวิษณุสามารถที่จะให้ข่าวสารในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนได้ตามความจำเป็นตามที่นายกฯ มอบหมาย ดังนั้น เรื่องร้อนจากเดิมที่เศรษฐาจะตอบตรง ๆ ตามสไตล์ ก็อาจจะมอบหมายให้วิษณุตอบแทน ซึ่งจะได้ทั้งความชัดเจน และจบในคราวเดียว บทบาทของที่ปรึกษานายกฯ รอบนี้จึงไม่ธรรมดา เฉพาะหน้าปมที่จะทำให้เกิดการเตะตัดขากันของพรรคร่วมรัฐบาลนั่นก็คือ กัญชา
ล่าสุด ศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกฯ อนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย ได้เปิดหน้าโต้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่อท่าทีที่จะนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดว่า ฟังแต่กลุ่มต้านกัญชา ไม่ถามกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ที่รักษา คนป่วย เอาแต่ทฤษฎีมาบังคับ พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดสมัยรัฐบาลที่ผ่านมาจึงไม่คัดค้าน การได้วิษณุมาในจังหวะนี้อาจช่วยห้ามทัพ และทำให้ทุกอย่างกระจ่างชัด เกิดความเข้าใจที่ตรงกันได้
ปมปัญหากัญชาเสรีนั้น ภูมิใจไทยย่อมรู้ดีว่าเกิดจากการถูกหักหลังของพรรคร่วมรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะการถอดจากบัญชียาเสพติด มีปัญหาในทางปฏิบัติ การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อาจมีระเบียบ และกฎหมายรองรับ ควบคุม แต่การใช้ผิดประเภท และเป็นช่องโหว่ทำให้ต่างชาติใช้เป็นช่องทางทำมาหากินนั้น ยังไร้กฎหมายควบคุม บทสรุปตรงนี้จึงต้องเริ่มต้นที่รัฐบาลว่าจะเดินกันอย่างไรต่อ หากต้องร่างเป็นกฎหมาย สุดท้ายก็ไปจบกันที่สภา ถ้าเดินตามแนวนี้ย่อมไร้ปัญหา
ขณะที่เรื่องของ ทักษิณ ชินวัตร กับคดีความผิดมาตรา 112 ที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องนั้น แพทองธาร ชินวัตร ยืนยันว่า ผู้เป็นพ่อไม่หนักใจ ไม่กังวล ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ มองว่ามีการบิดเบือนความเป็นจริงตั้งแต่แรกที่ฟ้อง เรื่องนี้มั่นใจว่าไม่มีทางที่จะโดนคดีนี้ และทักษิณบอกว่าดีที่จะได้ขึ้นศาลเพราะจะได้อธิบายข้อเท็จจริงให้กระจ่าง โดยอุ๊งอิ๊งชี้ว่าคดีนี้ถูกฟ้องตอนปฏิวัติเสร็จใหม่ ๆ และย้ำว่าอัยการสูงสุดแต่งตั้งโดย คสช. ฉะนั้น ก็พิจารณาเอาเอง จี้ตรงจุดกันแบบนี้ กระบวนการต่อสู้น่าติดตาม
ต้องยอมรับกันอย่างหนึ่งว่า คดีต่าง ๆ ที่นายใหญ่ได้รับก่อนหน้านั้น ล้วนแต่เกิดจากกระบวนการที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารทั้งสิ้น และถูกตัดสินโดยศาลเดียว แต่กรณีคดี 112 นั้น อัยการสูงสุดคนก่อนหน้าอาจถูกตั้งคำถามที่อยู่ในยุคเผด็จการ คสช. แต่ว่าคนปัจจุบันไม่มีทางเลือกอื่น และเป็นการรักษาภาพลักษณ์องค์กรด้วยต้องออกมาในรูปนี้ ให้ไปวัดกันในศาล ซึ่งทักษิณก็ยินดีที่จะสู้ เพราะต้องว่ากันถึงฎีกา กลายเป็นว่าปมตรงนี้ กลับมาสร้างความหนักใจให้ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลแทน
อย่างที่รู้กัน สภาผู้แทนราษฎรในการเปิดสมัยประชุมเดือนกรกฎาคมนั้น ร่างกฎหมายฉบับแรกที่จะเข้าสู่การพิจารณาคือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป้าหมายของพรรคแกนนำฝ่ายค้านคือ การนิรโทษกรรมให้กับคดีการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่ส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีในความผิดมาตรา 112 เมื่อทักษิณเป็นผู้ต้องหาในความผิดเดียวกัน ย่อมจะมีข้อยกเว้นเฉพาะคนไม่ได้ กลายเป็นกลืนไม่เข้าคายไม่ออก บอกแล้วไม่ว่าจะอนุรักษนิยมหรือหัวก้าวหน้าสมัยใหม่ ไม่มีทางที่จะเดินกันได้แบบสุดโต่งแน่นอน
อรชุน