17 หุ้นฝืดโฟลต.!?

หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญกับเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนหรือ “หุ้นรายตัว” และเงื่อนไขการลงทุนที่สำคัญ นั่นคือ “ฟรีโฟลต” (Free Float)


หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญกับการเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนหรือ “หุ้นรายตัว” และเงื่อนไขการลงทุนที่สำคัญ นั่นคือ “ฟรีโฟลต” (Free Float) เป็นปริมาณหุ้นที่ถือครองโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือปริมาณหุ้นที่มีอยู่ในตลาด ที่นักลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถเข้าถึงเพื่อทำการซื้อหรือขายได้

กล่าวคือราคาหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำ (สภาพคล่องต่ำ) จึงเกิดความผันผวนกว่าหุ้นที่มีฟรีโฟลตสูง (สภาพคล่องสูง) เมื่อผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนรายใหญ่เข้าทำการซื้อหรือขายแต่ละครั้ง..!!

ปัจจุบันตามเกณฑ์ฟรีโฟลต บริษัทจดทะเบียน จะต้องมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 ราย และถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 15% ของทุนชำระแล้ว นั่นหมายถึงจะต้องมีจำนวนหุ้นฟรีโฟลตมากกว่า 15% ของทุนชำระแล้ว ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น (Book Closing Date :BC) หรือวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date :RD) เพื่อสิทธิในการเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัท

หากสัดส่วนฟรีโฟลตต่ำกว่าเกณฑ์นี้ ปีแรกจะได้รับการแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์ฯ  แต่หากยังคงต่ำกว่าเกณฑ์เป็นปีที่ 2 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศชื่อต่อสาธารณะ บริษัทต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีส่วนเพิ่ม และต้องส่งรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขฟรีโฟลตทุก 6 เดือน

อย่างไรก็ตามตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดแนวทางดำเนินการของบริษัทจดทะเบียน ที่มี Free Float ไม่ครบถ้วน ด้วยการขึ้นเครื่องหมาย CF (Caution-Free Float) ไว้ที่หลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว ตามหัวข้อการดำเนินการกรณี Free Float ไม่ครบตามเกณฑ์

ตลอดช่วงที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่เคยมีการเพิกถอนสถานะบริษัทจดทะเบียนจากกรณีมีจำนวนผู้ถือหุ้นสามัญรายย่อยไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว

สำหรับเครื่อง CF (Caution-Free Float) เป็นการชี้ให้นักลงทุนเห็นว่าบริษัทมี Free Float หรือผู้ถือหุ้นรายย่อยน้อยกว่าเกณฑ์กำหนด ที่อาจกระทบต่อสภาพคล่องการซื้อขายหุ้น โดยบริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องดำรงให้มีผู้ถือหุ้นมากกว่าหรือเท่า กับ 150 รายและถือหุ้นรวมกันมากกว่าหรือเท่ากับ 15% ของทุนชำระแล้ว เพื่อให้การซื้อขายหุ้นหรือหลักทรัพย์มีสภาพคล่อง 

ถือเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน เพราะหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อยอาจมีผลต่อการลงทุน อาทิเช่น มีความยากในการซื้อขาย เพราะอาจไม่มีผู้ซื้อหรือผู้ขายเพียงพอ, มีความผันผวนของราคาเพราะหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อยมักมีความผันผวนของราคามากกว่าหุ้นที่มีสภาพคล่องมาก และมีความเสี่ยงการลงทุน เพราะนักลงทุนอาจต้องขายหุ้นราคาที่ต่ำกว่าความคาดหวัง หากต้องการขายหุ้นแบบเร่งด่วน..

ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการประกาศขึ้นเครื่องหมาย CF จำนวน 17 หุ้น ด้วยเหตุกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ครบถ้วน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 67 เป็นต้นไป เริ่มจากบริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ ANI, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT, บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC, บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLAND, บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY, บริษัท เคดับบลิวไอ จำกัด (มหาชน) หรือ KWI, บริษัท ลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ โฮเท็ล จำกัด (มหาชน) หรือ LRH

บริษัท แม็ทชิ่ง แม็กซิไมซ์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MATCH, บริษัท เอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ NFC, บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA, บริษัท พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PRG, บริษัท พลัส เทค อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTECH

บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH, บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) หรือ TNL, บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) หรือ UMS, บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH และบริษัท ซาเล็คต้า จำกัด (มหาชน) หรือ ZAA

และนี่คือ 17 หุ้นที่ถูกตลาดหลักทรัพย์ประทับตราว่าเป็น “หุ้นโฟลตต่ำ” ที่พึงต้องระวัง..แต่ก็มีที่มีฟรีโฟลต (แอบแฝง) อีกเป็นจำนวนมาก…ที่มักถูกมือดีหยิบฉวยขึ้นมาปั่น “ดันราคาและออกของ” ให้เห็นกันมานักต่อนักแล้ว..!!??

เล็กเซียวหงส์

Back to top button