เคนเซียน (KEYNESIAN) มาเอง
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวทางของเคนส์เคยเป็นแนวทางที่ทุกรัฐบาลเลือกใช้โดยถือว่างบประมาณของประเทศทุนนิยมมาจากภาษีอากร
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวทางของเคนส์ หรือที่เรียกกันว่าเคนเซียน เคยเป็นแนวทางที่ทุกรัฐบาลเลือกใช้ โดยถือว่างบประมาณของประเทศทุนนิยมมาจากภาษีอากร หรือรายได้จากภาครัฐที่เข้ามาจะถูกนำไปจัดสรรในฐานะที่เป็นตัวเร่งทางเศรษฐกิจ (Economic Accelerator) ที่จะยังผลให้ดอกผลทางการคลังมีประโยชน์ต่อกลไกอื่น ๆ
แนวทางนี้จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ได้นำเสนอขึ้นมาเพื่อให้รัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนที่จะปล่อยให้เป็นทุนนิยมเสรี (Laissez Faire) ที่ไร้รัฐเข้ามามีบทบาทกำกับดูแลกลไกทางเศรษฐกิจด้วยมือที่มองเห็น อันเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลชื่นชอบ แม้จะมีข้อกล่าวหาว่าทำให้เกิดปัญหารัฐเข้าแทรกแซงกลไกทางเศรษฐกิจมากเกินขนาดก็ตาม
ปัญหาที่ตามมา คือการใช้งบประมาณไม่ควรมากเกินด้วยการก่อหนี้ภาครัฐมากเกินขนาดจนกลายเป็นภาระทางการคลังในภายหน้า โดยดูได้จากนโยบายการคลังของรัฐที่จะสมดุลมากกว่าการขาดดุลต่อเนื่อง
ดูจากแนวทางนี้ก็ยังจะเห็นได้ไม่ชัดเจนว่าการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลเศรษฐาจะก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่
การที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงคลังได้เตรียมมาตรการอื่น ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งภาคท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
ขณะที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ จำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็นงบกลาง และรายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจตามกฎหมายงบประมาณประจำปี ซึ่งคาดว่าร่างกฎหมายจะเข้าสู่สภาฯ ในเดือน ก.ค. หรือ ส.ค.นี้
เพียงแต่ว่าในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์นั้น กระทรวงการคลังมักจะเจ้าเล่ห์ปั้นแต่งตัวเลขเพื่อถอนขนห่านโดยการเพิ่มรายได้จากภาษีแวต (VAT) เข้ารัฐ อันเป็นนโยบายต้อนหมูเข้าเล้าด้วยการออกแบบให้เงินช่วยเหลือประชาชนกลับคืนสู่ภาครัฐด้วยการที่มีมาตรการใช้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการต้องเข้าระบบแวตให้มากขึ้นซึ่งทำให้รัฐรับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ทวงบุญคุณจากประชาชนไปด้วย
การต้อนหมูเข้าเล้าของกระทรวงการคลังโดยผ่านระบบแวตนี้คือการรีดภาษีทางอ้อมจากประชาชนอีกทางหนึ่งที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อทวงบุญคุณประชาชนที่แนบเนียนอันเป็นนโยบายประชานิยมซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลสามารถใช้การช่วยเหลือประชาชนมากล่าวอ้างได้ตลอดเวลา ซึ่งว่าไปแล้วไม่ใช่ความผิดอะไรเลยเพียงแต่ประชาชนจะต้องรู้เท่าทันเท่านั้น
นโยบายการคลังแบบเคนเซียนดังกล่าวนี้ทักษิณในยุคไทยรักไทยได้เคยใช้และได้ผลรับที่ดีมาก กล่าวคือสามารถรักษาวินัยทางการคลังด้วยการทำงบประมาณสมดุลได้สำเร็จในขณะที่ใช้นโยบายประชานิยมอย่างเต็มที่ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในสมัยพรรคเพื่อไทยยังไม่ทันได้ใช้นโยบายการคลังดังกล่าวเพราะรัฐบาลเจอปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่และเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างกะทันหันเสียก่อน
รัฐบาลเศรษฐาในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนหลักจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันเพิ่งจะมีโอกาสได้ทำงบประมาณของตนเอง แม้จะเพิ่มมาตรการประชานิยมเข้ามาด้วยการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตและเพิ่มงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินประจำปี 2567-2568 แต่ถ้าหากว่ายังรักษาวินัยทางการคลังด้วยงบประมาณแบบสมดุลก็คงไม่มีปัญหาอะไร
เพียงแต่เรายังไม่รู้ว่างบประมาณปีนี้จะออกมาในรูปแบบไหนการจะด่วนติเรือทั้งโกลนอาจจะเร็วเกินไป
วิษณุ โชลิตกุล