ลดราคาน้ำมัน-ก๊าซได้มากน้อยแค่ไหน

ระยะนี้ ในโลกโซเชียลตามไลน์ของกลุ่มทางสังคมตลอดจนกลุ่มญาติมิตรต่าง ๆ มีการโพสต์ข้อความ “ถล่มปตท.” กันอย่างหนาตา


ระยะนี้ ในโลกโซเชียลตามไลน์ของกลุ่มทางสังคมตลอดจนกลุ่มญาติมิตรต่าง ๆ มีการโพสต์ข้อความ “ถล่มปตท.” กันอย่างหนาตา

จริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่ในฐานะของสื่อภาคการเงินและพลังงานรวมทั้งบริษัทจดทะเบียน ซึ่ง 1 ในนั้นคือบริษัท ปตท.ที่ครองมาร์เก็ตแคปใหญ่สุดในตลาดฯ ก็อยากจะบอกว่า เท็จมากกว่าจริง

บางเรื่องก็อาจจะเกินเลยไปอย่างมาก เช่น เงินเดือน CEO ปตท. 4.5 ล้านบาท, โบนัส 8 เดือน (40-50 ล้านบาท), บัตรเครดิตเอนเทอร์เทนเดือนละ 4 แสนบาท, รายได้พิเศษจากบริษัทลูกกว่า 200 บริษัท และอยู่บ้านฟรี-น้ำมัน ไฟฟรี

สุดท้ายก็เรียกร้อง “เอาพลังงานกลับมาเป็นของคนไทย”

ของจริงนั้น ก็ดูได้จากรายงานป.ป.ช.ที่ซีอีโอคนก่อน แจ้งเอาไว้ ณ 9 ส.ค. 2566 ว่า รายได้รวม/ปี เพียง 47.8 ล้านบาทเท่านั้น

เงินเดือนซีอีโอปตท.แค่ 21 ล้านบาท/ปี หรือ 1.75 ล้านบาท/เดือนโดยเฉลี่ย ไม่ใช่ 4.5 ล้านบาท ส่วนโบนัสก็แค่ 12 ล้านบาท ไม่ใช่ 40-50 ล้านบาทในโลกโซเชียล

สำหรับองค์กรที่มีรายได้ปีละ 3.2 ล้านล้านบาท และกำไรปีละ 1.1 แสนล้านบาทอย่างปตท. เงินเดือนผู้บริหารสูงสุดแค่ 1.75 ล้านบาท และโบนัส 12 ล้านบาทแค่นี้ มองอย่างเป็นธรรม มันก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก

ผู้บริหารบริษัทเอกชนจำนวนมากที่มีรายได้และกำไรต่ำกว่าปตท. ยังมีเงินเดือนและโบนัสมากกว่าซีอีโอปตท.ซะด้วยซ้ำ

เรื่องปั๊มร่วมทุนจีน “ไซโนเปค-ซัสโก้” ที่กระพือกันยกใหญ่ว่าลดราคาต่ำกว่าปตท.1 บาท มันก็แค่ “โปรโมชัน” เรียกลูกค้าเฉพาะปั๊มสาขาที่เปิดใหม่ครั้งละ 7 วันครับ เห็นตอนเปิดแคมเปญ 25-31 ต.ค.ปีก่อน ต่อมาก็เดือน ก.พ.ปีนี้

ก็เหมือนรายการปั๊มแจกน้ำดื่มล่ะครับ ไม่ใช่เป็นราคาตายตัวที่จิรังถาวรอะไร

เรื่องทำไมต้องอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์?

ก็ต้องขอบอกว่า สิงคโปร์เป็น 1 ใน 3 ของตลาดน้ำมันสำเร็จรูปในโลก ราคาจึงเป็นมาตรฐานสากลและขึ้นลงตามราคาน้ำมันดิบ และเราก็เป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันถึง 80%

หากราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ปรับลดลง โรงกลั่นไทยและคนไทยก็ได้ประโยชน์ ส่วนหากราคาสิงคโปร์ปรับขึ้น โรงกลั่นไทยก็ต้องปรับตาม และราคาจำหน่ายปลีกแก่ประชาชนก็ต้องปรับขึ้น

มันก็มีทั้งบวกและลบเหมือนการปรับขึ้นลงน้ำมันในประเทศ ไม่ใช่ด้านใดด้านเดียว

ส่วนทำไมถึงรวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยทั้งที่กลั่นในประเทศไทย ก็เพราะความเป็นสากลของตลาดสิงคโปร์ และการเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบแหละ จึงต้องคิดในราคาส่งออกจากสิงคโปร์

โครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบัน เป็นราคาหน้าโรงกลั่นหรือราคาเนื้อน้ำมันเพียง 57-60% เท่านั้น นอกนั้นเป็นภาษี เงินกองทุน และอื่น ๆ ฯลฯ

อย่างเช่นแก๊สโซฮอล์95 ราคาจำหน่ายปลีก 37.85 บาท เป็นราคาต้นทุนเนื้อน้ำมันแค่ 21.6751 บาทหรือ 57.26% เท่านั้น ที่เหลือเป็นภาษีสรรพสามิต 5.85 บาท กองทุนน้ำมัน 3.40 บาท และอื่น ๆ ทั้งภาษีท้องถิ่น กองทุนอนุรักษ์ ค่าการตลาด VAT 7% ทั้งขายส่ง-ขายปลีก ฯลฯ

มันก็เป็นคำตอบอยู่ในตัวแล้วว่า เหตุใดราคาส่งออกจึงถูกกว่าราคาจำหน่ายปลีกในประเทศ ก็เพราะส่งออกในราคาหน้าโรงกลั่นหรือใกล้เคียงโดยไม่มีภาษีหรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ไง

ส่วนเรื่องราคาก๊าซธรรมชาติ อันเป็นต้นทุนใหญ่โรงไฟฟ้าที่ต้องพึ่งพาการนำเข้ากว่า 33% ก็ต้องหาทางลดการนำเข้า ทางที่ถูกที่ควรของรัฐมนตรีพลังงาน คือการหาทางนำก๊าซในแหล่ง OCA ร่วมไทย-กัมพูชามาใช้ประโยชน์มากกว่า

นโยบายรื้อ-ลด-ปลด-สร้าง ยังไม่เห็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เห็นแต่ผู้บริจาครายใหญ่อย่างปตท.ในยุทธการชอร์ตฟอลและส่วนแบ่งกำไรจากโรงแยกก๊าซ

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button