SUZUKI ซามูไรถอยทัพ.!!
ตัวเลขจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) พบว่าช่วง 4 เดือนแรกปี 2567 (ม.ค.-เม.ย. 67) ที่ผ่านมายอดขายรถยนต์ใหม่อยู่ที่ 210,494 คัน ลดลง 23.9%
ตัวเลขจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) พบว่าช่วง 4 เดือนแรกปี 2567 (ม.ค.-เม.ย. 67) ที่ผ่านมายอดขายรถยนต์ใหม่อยู่ที่ 210,494 คัน ลดลง 23.9% (รถยนต์นั่ง 82,903 คัน ลดลง 15.2% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 127,591 คัน ลดลง 28.7%) โดยช่วงเดือนเม.ย. 67 พบว่า ยอดขายรถยนต์อยู่ที่ 46,738 คัน ลดลง 21.5 % (รถยนต์นั่ง 17,288 คัน ลดลง 14.4% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 29,450 คัน ลดลง 25.1%)
ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกปี 2567 ประเทศไทย มีตัวเลขการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 518,790 คัน ลดลง 17.05%
ปัจจัยที่มีผลทำให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ชะลอตัวมาจากภาพรวมเศรษฐกิจหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อและดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวเด่นชัดมากนัก
ตัวเลขดังกล่าวบ่งบอกถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย “เปราะบาง” อย่างชัดเจน..!!
ล่าสุด 7 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ภายใต้แบรนด์ SUZUKI สัญชาติญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์แจ้ง “ยุติดำเนินการผลิตรถยนต์โรงงานในประเทศไทย” โดยการตัดสินใจครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนโครงสร้างการผลิตของ “ซูซูกิ” ทั่วโลก
ถ้อยแถลงการณ์ SUZUKI ระบุว่า ตามที่รัฐบาลไทยได้มีการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) ตั้งแต่ปี 2550 ช่วงเวลาดังกล่าว “ซูซูกิ” ได้สมัครเข้าร่วมโครงการและก่อตั้งบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นในปี 2554 หลังจากได้รับการอนุมัติจึงมีการเริ่มดำเนินการผลิตขึ้นตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาสามารถผลิตและส่งออกได้ 60,000 คันต่อปีนับตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบันมีกำลังการผลิตแล้ว 428,000 คัน
ทั้งนี้ด้วยการส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอนและการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าทั่วโลก “ซูซูกิ” มีการพิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระดับโลก จึงตัดสินใจยุติการดำเนินงานโรงงานซูซูกิในประเทศไทยช่วงปี 2568
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการยุติการดำเนินงานโรงงานในไทย แต่บริษัทยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในการจำหน่ายและการให้บริการหลังการขายลูกค้าชาวไทยต่อไป โดยจะมีการปรับปรุงแผนธุรกิจเป็นการนำเข้ารถยนต์จากโรงงานในภูมิภาคแถบอาเซียน รวมถึงประเทศญี่ปุ่นและอินเดีย
นอกจากนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนและให้สอดคล้องเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายของภาครัฐ บริษัทจะมีการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีไฮบริด (HEVs) เข้าสู่ตลาดในอนาคตด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ SUZUKI มีแผนเปิดตัวรถยนต์อเนกประสงค์ (เอสยูวี) ขนาดกลางพลังงานไฟฟ้า 100% ในประเทศไทยช่วงกลางปี 2568 และภายใน 5 ปีมีแผนการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่อีก 3 รุ่น รวมถึงรถยนต์นั่งขนาดเล็กพลังงานไฟฟ้า 100%
สำหรับบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ด้วยทุนจดทะเบียน 12,681.87 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ โรงงานตั้งอยู่ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง แต่ผลประกอบการ SUZUKI ย้อนหลัง 5 ปี (2562-2566) มีตัวเลขถดถอยมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากปี 2562 มีรายได้รวม 23,426 ล้านบาทขาดทุนสุทธิ 694.99 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้รวม 16,283 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,041.78 ล้านบาท ปี 2564 มีรายได้รวม 16,287 ล้านบาท กำไรสุทธิ 328.60 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้รวม 12,805 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 80.45 ล้านบาท ปี 2566 มีรายได้รวม 7,037 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 264.58 ล้านบาท
ความเป็นไปของ SUZUKI ครั้งนี้เกิดขึ้นเฉกเช่นเดียวกับรถยนต์ Subaru ที่ประกาศปิดโรงงานประกอบรถยนต์ในไทยถาวรและปลดพนักงานด้านการผลิตทั้งหมด โดยจะทำการผลิตรถยนต์ Subaru รุ่น Forester จนถึง 31 ธ.ค. 67 และในปี 2568 รถยนต์ Subaru ทุกรุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทย, มาเลเซีย, กัมพูชา และเวียดนามจะเป็นรถยนต์นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด
สุภชัย ปกป้อง