กลุ่มเจมาร์ท เทิร์นอะราวด์
วันก่อนหน้านี้หุ้นกลุ่มเจมาร์ท ปรับขึ้นร้อนแรงทั้งกลุ่ม ส่วนวานนี้ บางหุ้นในกลุ่มฯ ยังปรับขึ้นต่อ และบางหุ้นราคาเกิดการ “พักตัว” เล็กน้อย
วันก่อนหน้านี้หุ้นกลุ่มเจมาร์ท ปรับขึ้นร้อนแรงทั้งกลุ่ม
ส่วนวานนี้ บางหุ้นในกลุ่มฯ ยังปรับขึ้นต่อ และบางหุ้นราคาเกิดการ “พักตัว” เล็กน้อย แต่ไม่ได้ปิดในแดนลบ
มีนักวิเคราะห์บางท่านบอกว่า น่าจะเกิดจากการดีดตัว “ทางเทคนิค”
คำตอบนี้ถือว่าถูกส่วนหนึ่ง
แต่เหตุผลหลัก ๆ น่าจะมาจากทิศทางของบริษัทในกลุ่มที่เริ่ม “เทิร์นอะราวด์” หลังอยู่ระหว่างการปรับโพสิชั่นธุรกิจใหม่
หากย้อนไปก่อนหน้านี้
กลุ่มเจมาร์ทมีการปรับโครงสร้างภายในของบริษัทลูก 2 แห่งคือ
- บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC
- บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER
การปรับโครงสร้างภายใน ทำให้ผลประกอบการของทั้ง SGC และ SINGER ออกมา “ขาดทุน” ในปี 2566
สำหรับ SGC นั้น มีซิงเกอร์ฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 74.92% และบริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ถือหุ้นในสัดส่วน 4.46%
ส่วนซิงเกอร์ฯ มีเจมาร์ท กรุ๊ปฯ ถือหุ้นสัดส่วน 25.20%
ดังนั้น เมื่อ SGC มีผลประกอบการขาดทุน (จากการปรับโครงสร้างภายในและธุรกิจ)
ย่อมส่งผลกระทบต่อมายังซิงเกอร์ฯ
และเมื่อทั้ง เอสจีฯ และซิงเกอร์ฯ มีปัญหา จึงส่งผลมายัง “งบการเงิน” ของเจมาร์ทฯ
กลุ่มเจมาร์ทฯ ใช้เวลาสักพัก สำหรับการปรับโครงสร้างของทั้งสองบริษัทฯ (เอสจี / ซิงเกอร์) ดังกล่าว ก่อนจะแล้วเสร็จ และส่งผลมายังผลประกอบการที่เริ่มมีกำไรตั้งแต่ไตรมาส 3/2566
และมีกำไรมาต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/2567
เช่นเดียวกับเจมาร์ทฯ ที่เริ่มกลับมามีกำไรตั้งแต่ไตรมาส 3/2566 เช่นกัน
จนล่าสุดในไตรมาส 1/2567 เจมาร์ท ประเดิมกำไรสุทธิแล้ว 253 ล้านบาท (ปี 2566 ขาดทุน 244 ล้านบาท)
การกลับมามีกำไรของเจมาร์ท 3 ไตรมาส ติดต่อกัน เป็นผลจากการปรับโครงสร้างของบริษัทลูก นอกเหนือจาก การรับรู้กำไรจาก บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) ที่มีผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ดีมาตลอด
รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ในกลุ่ม เช่น สุกี้ตี๋น้อย ที่สร้างการรับรู้กำไรให้กับเจมาร์ทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
และธุรกิจของเจ โมบาย ฯลฯ
ทั้งเอสจีฯ และซิงเกอร์ฯ คาดว่าจะมีการเปิดเผยแผนธุรกิจครั้งใหม่ในเร็ว ๆ นี้
โดยเฉพาะซิงเกอร์ฯ ที่กำลังปรับ “เรือธง” และเป็นเรือธงที่จะพลิกสร้างมาร์จิ้นขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว จากธุรกิจที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “เมกะเทรนด์” (Mega Trends) ก็ได้
เจมาร์ท นั้น
หากย้อนกลับไปก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างของบริษัทลูก
จะมีการรับรู้กำไรจาก เจ เอ็ม ทีฯ ประมาณ 60-65%
รองลงมาคือซิงเกอร์ฯ
ส่วนปัจจุบัน เจ เอ็ม ทีฯ ยังคงสร้างกำไรให้กับเจมาร์ทได้อย่างแข็งแกร่ง ส่วนบริษัทที่สร้างกำไรให้กับกลุ่มฯ รองลงมากลับเป็น สุกี้ตี๋น้อย (ปัจจุบันมีจำนวน 66 สาขา)
สำหรับสุกี้ตี๋น้อย อยู่ระหว่างการขยายสาขาต่อเนื่อง และมีแผนจะระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะเป็นปี 2568
ย้อนกลับมาที่ราคาหุ้นในกลุ่มเจมาร์ทที่ปรับขึ้น
คำตอบของนักวิเคราะห์ที่บอกว่า ขึ้นทางเทคนิค ก็ไม่ถือว่าผิด
แต่เหตุผลหรือปัจจัยที่ทำให้ราคาหุ้นดีดกลับแรง น่าจะมาจากการเตรียมเปิดแผนธุรกิจครั้งใหม่ของทั้งเอสจีฯ และซิงเกอร์ฯ ด้วยเช่นกัน
มาดูกันว่า เรือธงใหม่ของบริษัทลูกเจมาร์ทคืออะไร
แล้วมีนัยสำคัญต่อการสร้างกำไรให้กับกลุ่มเจมาร์ทมากแค่ไหน
ธนะชัย ณ นคร