การเมืองทุบหุ้น

วันอังคารที่ 6 มิ.ย. หุ้นตกต่อเนื่องลงมาอีก 2.47 จุด เศรษฐา ทวีสิน อาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ๆ ที่ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า เกิดจากเหตุปัจจัยร้อนทางการเมือง 3 คดี


วันอังคารที่ 11 มิ.ย. หุ้นตกต่อเนื่องลงมาอีก 2.47 จุด เศรษฐา ทวีสิน อาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ๆ ที่ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า เกิดจากเหตุปัจจัยร้อนทางการเมือง 3 คดี

นั่นคือ คดีศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคก้าวไกล คดีศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพิกถอนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกรณีอัยการสั่งฟ้องทักษิณผิดมาตรา 112

อันที่จริง การเมือง ถ้าไม่ถึงขั้นก่อเหตุจลาจลหรือการสงคราม ก็มิใช่เหตุปัจจัยหลักบันดาลการขึ้นลงของตลาดหุ้นหรอก การเมืองจึงเป็นตัวปัจจัยเสริมมากกว่า

แต่สำหรับกรณีประเทศไทยแล้ว การเมืองกลับเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นมายาวนานจนกลายเป็น “ปัจจัยถาวร” ไปแล้ว

เรื่องไม่เป็นเรื่อง ก็ทำให้เป็นเรื่องกันได้ตลอด เช่นกกต.ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล ทั้งที่นโยบายพรรคก็ผ่านการตรวจทานจากกกต.มาแล้ว กลับมาฟ้องภายหลัง

นอกจากนั้นในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ระบุให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ “สั่งยุบพรรค” แต่อย่างใด อันไม่ควรจะก่อความตื่นตระหนกจนหุ้นตก แต่ก็สร้างความหวาดเสียวจนได้ เพราะความไม่แน่ใจในมาตรฐานกฎหมาย

การเมืองยังคงเป็นปัจจัยกดดันและฉุดรั้งตลาดหุ้นไทยอีกยาวนาน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่กลไกระดมทุนของประเทศ ไม่อาจทำหน้าที่อย่างเต็มที่ได้

หันมามองประเทศที่มีการเมืองมั่นคง และมีการบริหารจัดการที่ดีกันบ้าง

ตลาดหุ้นเกาหลี พอรัฐบาลสั่งเลิกการซื้อขายแบบ “ชอร์ตเซล” จนกว่าจะหามาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพได้ ตลาดหุ้นก็ฟื้นตัวทันตาเห็น

สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ล้นเกินความต้องการ พอรัฐบาลใช้มาตรการปล่อยสินเชื่อจำนวน 3 แสนล้านหยวน ให้กับหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่นเพื่อซื้อบ้านค้างสต๊อกมาจำหน่ายประชาชนในราคาถูก

ความตึงเครียดในตลาดหุ้นจีนก็ผ่อนคลาย

ส่วนตลาดหุ้นไทยซึ่งตอนนี้ ติดกับดักการเมืองอย่างรุนแรงเข้าขั้นวิกฤต ยังไม่เห็นการบริหารจัดการแก้วิกฤตสักเท่าไรนัก

มาตรการควบคุม “โปรแกรม เทรดดิ้ง” ให้หุ่นยนต์มาเอาเปรียบมนุษย์ ก่อความไม่เสมอภาคในการลงทุน และมาตรการคุม “ชอร์ตเซล” เอาเข้าจริงแล้วก็ยังแค่เงื้อง่า ยังไม่มีผลปฏิบัติแต่ประการใด

การนำ LTF หรือกองทุนระยะยาวที่จะเพิ่มสภาพคล่องในตลาด จาก 5-6 พันล้านบาทมาเป็น 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งสร้างข่าวดีให้ตลาดได้พักเดียว แต่ตอนนี้ก็ยังค้างลำกล้องอยู่ที่กระทรวงการคลัง ไม่รู้จะมีการปรับเปลี่ยนอะไรอีกหรือไม่

รัฐบาลชุดนี้ใช้เวลานานมากเกินไปกับอภิมหาโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ซึ่งบัดนี้ก็ยังกำหนดเกณฑ์รูปธรรมในการใช้จ่ายไม่ได้สักที

โครงการแลนด์บริดจ์ ก็อย่างงั้น ๆ ใช้เงินลงทุนมาก ไม่แน่ใจในความคุ้มค่า และไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของ“ดับเบิ้ล แฮนด์ลิ่ง” ที่จะต้องมีการขนสินค้าขึ้นและลง แล้วจะย่นระยะเวลาเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาเดิมได้ตรงไหน

เฮ้อ! ตลาดหุ้นไทยจะเหลือดีตรงไหนเนื่ย ทั้งการเมืองรุมและขาดข่าวดี

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button