พาราสาวะถี

บางครั้งปรากฏการณ์ทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่เหมือนจะบังเอิญ ทั้งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่สัปดาห์หน้า 3 สถานการณ์ร้อนทางการเมือง ดันมาประจวบเหมาะที่จะพิจารณาพร้อมกัน


บางครั้งปรากฏการณ์ทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่เหมือนจะบังเอิญ ทั้งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่สัปดาห์หน้า 3 สถานการณ์ร้อนทางการเมือง ดันมาประจวบเหมาะที่จะพิจารณาพร้อมกัน กล่าวคือ คดีของ ทักษิณ ชินวัตร ที่อัยการสูงสุดนัดส่งตัวฟ้องต่อศาลในความผิดมาตรา 112 วันที่ 18 มิถุนายน ปรากฏว่าวันเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญที่ปกติจะประชุมทุกสัปดาห์ในวันพุธ แต่หนนี้กลับนัดหมายในวันอังคาร มีเรื่องร้อน 3 เรื่องเข้าสู่กระบวนการ

เรื่องแรกนัดลงมติชี้ขาดทันทีในช่วงเช้านั่นก็คือ กรณี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.2561 มาตรา 36, 40, 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ กรณีที่ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งผู้ฟ้องคดีรวม 2 คำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ใน 4 มาตราดังกล่าวขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ 

จะได้รู้กันในวันนั้นว่าการเลือก สว.ที่ดำเนินการกันอยู่นั้นจะเป็นโมฆะหรือไม่ ขณะที่อีกสองเรื่องซึ่งจะสอดประสานกับกรณีของทักษิณคือ การยุบพรรคก้าวไกล และ คดี เศรษฐา ทวีสิน ถูก 40 สว.ร้องให้ชี้ขาดว่าขาดคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยประเด็นยุบก้าวไกลมีคำสั่งให้ กกต.ผู้ร้อง ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย. เช่นเดียวกับคดีเศรษฐาที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้ว มีคำสั่งให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 17 มิถุนายนเช่นกัน

ทั้งสองกรณีศาลได้นัดพิจารณาต่อในวันที่ 18 มิถุนายน ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะยังไม่นำไปสู่การวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม บรรดาคอการเมืองทั้งหลายต่างมองว่าการที่ทั้ง 3 เหตุการณ์มาบรรจบกันเช่นนี้ อาจจะเป็นลางบอกเหตุอะไรบางอย่าง หรือชี้ให้เห็นทิศทางทางการเมืองหลังจากนั้น หากทักษิณถูกนำตัวฟ้องต่อศาล แล้วไม่ได้รับการประกันตัว ถามว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าวันเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวันนัดฟังคำวินิจฉัยคดียุบก้าวไกลและชี้ชะตากรรมเศรษฐา ยิ่งจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมกันไปใหญ่

มีการมองไปไกลถึงขนาดว่า หากทักษิณต้องกลับเข้าคุก แล้วเศรษฐาหลุดจากเก้าอี้นายกฯ ก้าวไกลถูกยุบพรรค จะเกิดความระส่ำระสายทางการเมืองครั้งใหญ่หรือไม่ แต่บรรดากูรูต่างก็มองกันว่า โอกาสของทั้ง 3 เหตุการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด เรียงลำดับจาก ยุบพรรคก้าวไกล เขี่ยเศรษฐาพ้นเก้าอี้ และทักษิณต้องเดินเข้าซังเต เพราะดูจากความเคลื่อนไหวของอดีตนายกฯ จนถึงเวลานี้ ดูเหมือนว่า จะไม่กังวลกับคดีที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ท่วงทำนองที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นการส่งสัญญาณถึงความมั่นใจที่จะรอด ขณะที่ประเด็นของเศรษฐานั้น ไม่มีอะไรให้ต้องกังวล ถ้าไม่ถูกสอยก็ลุยงานกันเต็มที่ตามแผนที่ได้วางไว้ แต่หากต้องมีอันพ้นจากตำแหน่ง แค่จัดการเลือกนายกฯ คนใหม่ ซึ่งก็จะสัมพันธ์กันกับคดียุบก้าวไกล หากมีอันเป็นไปก็จะเกิดเหตุการณ์ผึ้งแตกรังอีกคำรบ บรรดานักเลือกตั้งที่มีข่าวว่าดอดไปเจรจากับพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็จะได้เวลาเปิดหน้าแสดงตัว ทำให้เห็นภาพการจับขั้วตั้งรัฐบาลกันชัดขึ้น

เมื่อถึงเวลานั้น ยังเชื่อมั่นกันว่า พรรคร่วมรัฐบาลก็ยังจะเป็นหน้าเดิม เพิ่มเติมคือ เก้าอี้ สส.ของแต่ละพรรคจะเปลี่ยนไป ทำให้กระบวนการต่อรองเรื่องเก้าอี้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ส่วนคนที่หวังจะเป็นตาอยู่คว้าพุงปลาไปกินนั้น น่าจะต้องซดน้ำใบบัวบก หรือรับประทานแห้วอีกตามเคย ดีลพิเศษที่ตกลงกันมา ไม่ว่าจะเกิดการพลิกแพลงแบบไหน ยังไงเพื่อไทยก็ต้องเป็นแกนนำรัฐบาล ส่วนใครจะมาเป็นนายกฯ ไม่สำคัญ เพราะ อำนาจที่ทรงพลัง ต้องการให้ทักษิณเป็นผู้กำกับดูแลอยู่แล้ว

ย้ำมาตลอดภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่ฝ่ายสุดโต่งมุ่งเล่นใหญ่ เท่ากับเป็นการปิดโอกาสที่จะเข้าไปกุมอำนาจในการบริหารบ้านเมืองได้ การเลือกใช้คนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวด แทบจะไม่ต้องอธิบายอะไรกันอีกว่าทำไมต้องเป็นทักษิณ เนื่องจากพรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ายากที่จะต่อกรกับพรรคกระแสแรงได้ ประกอบกับคนที่กุมบังเหียนแต่ละพรรคดูความนิยม และการยอมรับจากคนจำนวนมากยังห่างชั้นกับนายใหญ่

ดังนั้น ภาพการเมืองที่ ยุทธพร อิสรชัย วิเคราะห์ จึงมีความเป็นไปได้ นั่นก็คือ หากจะมีการปรับบางพรรคออกจากการร่วมรัฐบาล ก็ไม่ใช่ทั้งพรรค เพราะพรรคดังกล่าวมีแกนนำบางคนใกล้ชิดสนิทสนมกับเพื่อไทยอยู่ และอาจดึงพรรคบางพรรคซึ่งอยู่ในฝ่ายค้านเข้ามาไม่ทั้งพรรคเช่นเดียวกัน ทำให้จะได้เห็นปรากฏการณ์แปลก ๆ ในการเมืองไทยคือ “ร่วมรัฐบาลครึ่งพรรค และเป็นฝ่ายค้านครึ่งพรรค” เรียกว่า “เป็นรัฐบาลคนละครึ่ง ฝ่ายค้านคนละครึ่ง” อะไรที่พิลึกพิลั่นไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น

สลัดเรื่องร้อนทางการเมือง ไปดูความวุ่นวายในแวดวงสีกากี กรณีความขัดแย้งของสองบิ๊ก พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. กับ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งเศรษฐาตั้งขึ้น ที่มี 3 อรหันต์คือ ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ชาติพงษ์ จีระพันธุ์ อดีตรองอัยการสูงสุด และ พลตำรวจเอก วินัย ทองสอง อดีตรอง ผบ.ตร มีรายงานว่าได้ข้อสรุปแล้ว โดยจะส่งผลให้นายกฯ รับทราบในวันที่ 20 มิถุนายนนี้

การทำงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าวทำเอาชาวบ้านเกือบลืมไปแล้ว เพราะมีการตั้งมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีการให้เหตุผลของความล่าช้าว่าต้องตรวจสอบเส้นทางการเงินเพิ่มเติมเนื่องจากข้อมูลมีความซับซ้อนพัวพันหลายฝ่าย ถ้าใช้เส้นทางการเงินเป็นฐานสำคัญในการตรวจสอบ ก็น่าจะเห็นทิศทางของข้อสรุปที่จะออกมา ความเป็นไปได้ของสองบิ๊กที่จะกลับมายิ่งใหญ่คงหมดไป อยู่ที่ว่าใครจะถูกเล่นงานหนักหน่วงมากกว่ากันเท่านั้นเอง

อรชุน

Back to top button