ตลท.-กฟผ.จับมือพัฒนาระบบ SET Carbon
ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่ Net Zero Economy เป้าหมายหลักคือบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 (2593)
เส้นทางนักลงทุน
ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่ Net Zero Economy เป้าหมายหลักคือบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 (2593) รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Commitment) ภายในปี 2065 (2608) ซึ่งหลายหน่วยงานมีการตื่นตัวในเรื่องนี้ หนึ่งในนั้นคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
ขณะนี้ ตลท.อยู่ระหว่างพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลก๊าซเรือนกระจก หรือระบบ SET Carbon เพื่อเป็นเครื่องมือจัดการ จัดเก็บ และคำนวณข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมทางธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยีและมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ มาจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการมุ่งพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืน
ระบบ SET Carbon จะเปิดเผยข้อมูลการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของตลาดทุน ตามแผนกลยุทธ์ปี 2567 โดยนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการจัดการข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานด้านพลังงานและทรัพยากร
ภายใต้วัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) เพื่อประโยชน์ของการใช้ข้อมูล พร้อมทั้งลดกระบวนการทำงานของบจ.
“ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลท. อธิบายว่า ตลท.สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล และอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อธุรกิจ โดยสาเหตุสำคัญมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมของมนุษย์
ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 จึงได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ขององค์กรภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)
ระบบ SET Carbon จะยกระดับคุณภาพข้อมูล ESG บจ. เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้องใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนและติดตามการเปิดเผยข้อมูลของธุรกิจและธุรกิจใช้วางแผนจัดการก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนลดต้นทุนและกระบวนการของบจ.
โดยข้อมูลจากระบบ SET ESG Data Platform พบว่าในปี 2567 มีบจ.เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและได้รับการทวนสอบแล้ว 266 บริษัท หรือ 32% ของบจ.ทั้งหมด ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้บจ.เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวมาจากมาตรการสนับสนุนการลงทุนในกองทุน Thai ESG
และการเตรียมพร้อมของบจ.สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งนี้การพัฒนาระบบ SET Carbon ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน
ในปีนี้ ตลท.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลพลังงานระดับประเทศ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้ความรู้แก่บจ.ด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
และเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบ SET Carbon เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและแนวทางบริหารจัดการด้านพลังงานที่ตอบโจทย์ทุกภาคส่วน รวมทั้งเปิดรับพันธมิตรอื่น ๆ ในการพัฒนายกระดับคุณภาพและการใช้ข้อมูล ESG เพื่อการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อไป
ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่าการ กฟผ. ระบุว่า กฟผ.พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านความร่วมมือในการบูรณาการข้อมูลด้านพลังงานและกลไกทางเศรษฐศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนกับตลท. เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการตัดสินใจของผู้ลงทุน ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ
ที่ผ่านมา กฟผ.ในฐานะผู้ได้รับสิทธิจากมาตรฐาน The International Tracking Standard (I-TRACK) หรือชื่อเดิม The International REC Standard (I-REC) ให้เป็นผู้รับรอง (Local Issuer) โดยผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนของไทยได้มีการขอออกใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) แล้วกว่า 20 ล้านใบรับรอง
ตามการขยายตัวเพิ่มขึ้นของตลาดการซื้อขาย REC ในทุกปี และความต้องการของบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ในการเข้าถึงพลังงานสะอาดเพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่สังคมสีเขียวต่อไป
ระบบ SET Carbon จัดการข้อมูลโดยแยกเป็นกลุ่มรายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emissions Inventory) ครอบคลุมการใช้พลังงานและทรัพยากรในกิจกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ โดยจำแนกข้อมูลตามกลุ่มอุตสาหกรรม และสามารถจัดทำรายงานในรูปแบบ Dashboard
ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อกับระบบอื่น อาทิ SET ESG Data Platform ของตลท. รวมถึงหน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูลการใช้พลังงานและทรัพยากร ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาระบบต้นแบบ (prototype) โดยมีบจ.นำร่อง 20 บริษัท จากทุกกลุ่มอุตสาหกรรมร่วมทดสอบ ก่อนเปิดใช้อย่างเป็นทางการภายในไตรมาสแรกปี 2568
ในเฟสแรก จะเน้นบจ.ที่สนใจใช้เครื่องมือจัดทำและเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากกิจกรรมขององค์กร และขอบเขตที่ 2 คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน
พร้อมทวนสอบข้อมูลก๊าซเรือนกระจกตามข้อกำหนดของ 56-1 One Report และจะขยายไปสู่ขอบเขตที่ 3 คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากห่วงโซ่คุณค่าของบจ.ในเฟสต่อไป
เรื่อง ESG นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก และปัจจุบันนักลงทุนยังมีความสนใจเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่ม ESG เพิ่มมากขึ้นด้วย