‘เปโตรดอลลาร์’ กับจุดเปลี่ยนพลวัตเศรษฐกิจโลก

สัปดาห์ที่ผ่านมา “ซาอุดีอาระเบีย” ประกาศไม่ต่อสัญญา “เปโตรดอลลาร์” กับสหรัฐอเมริกา ที่ดำเนินระยะเวลามากว่า 50 ปี


สัปดาห์ที่ผ่านมา “ซาอุดีอาระเบีย” ประกาศไม่ต่อสัญญา “เปโตรดอลลาร์” (หรือกำหนดราคาส่งออกน้ำมันดิบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) กับสหรัฐอเมริกา ที่ดำเนินระยะเวลามากว่า 50 ปี นับตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. 2517 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นสัญญาที่สำคัญต่ออิทธิพลทางเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ

เงื่อนไขของสัญญาดังกล่าว ทำให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและตอบสนองความต้องการทางทหารของซาอุดีอาระเบีย ในอดีตที่ผ่านมา สหรัฐฯ คาดหวังให้ซาอุดีอาระเบีย เพิ่มกระบวนการผลิตน้ำมัน รวมถึงกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเขตอาหรับ

การเลือก “ไม่ขยายสัญญา” ทำให้ซาอุดีอาระเบีย สามารถขายน้ำมันและสินค้าต่าง ๆ โดยใช้สกุลเงินอื่นนอกจากดอลลาร์สหรัฐได้ เช่น เงินหยวนจีน, เงินยูโร และเงินเยน หรือแม้แต่สกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์

การตัดสินใจไม่ต่อสัญญาครั้งนี้ ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ที่คาดว่าจะช่วยเร่งแนวโน้มการใช้สกุลเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐในการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ “ซาอุดีอาระเบีย” ได้เข้าร่วมโครงการ Multiple Central Bank Digital Currency Bridge Project (mBridge) หรือโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นความพยายามในการสำรวจแพลตฟอร์มสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้ร่วมกันระหว่างธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์

โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินข้ามพรมแดนรวมถึงทำธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโดยใช้เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (DLT)

ความเคลื่อนไหวของซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพลวัตทางเศรษฐกิจโลก ขณะที่หลายฝ่ายจับตามองผลกระทบของสถานการณ์ดังกล่าว ที่มีต่อการค้าและการเงินระหว่างประเทศ

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า “ภัยคุกคามต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ” ในฐานะสกุลเงินสำรองนั้นมีมากเกินไป แต่ส่วนใหญ่มองว่าการสิ้นสุดของสัญญาเปโตรดอลลาร์มีศักยภาพในระยะยาว ที่จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินสหรัฐฯ

ปัจจุบันแม้ประเทศอังกฤษ ยังใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายน้ำมัน แต่รัฐบาลแสดงความเปิดกว้างต่อแนวการใช้สกุลเงินอื่น ๆ

ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่บางแห่ง เช่น ประเทศจีน กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงกลไกดังกล่าว โดยแสดงความพยายามเพื่อให้ซาอุดีอาระเบีย ยอมรับการใช้เงินหยวนในการซื้อน้ำมันมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว

ปี 2566 ที่ผ่านมา มีการซื้อขายน้ำมันโลกปริมาณกว่า 20% ในสกุลเงินอื่น ๆ นอกจากดอลลาร์สหรัฐ

หาก “ซาอุดีอาระเบีย” เปลี่ยนไปใช้สกุลเงินอื่น ๆ ในการซื้อขายน้ำมัน นั่นจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดน้ำมันและตลาดโลกมีบทบาทน้อยลงและหากว่าความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐทั่วโลกลดลงอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

ที่สำคัญอาจส่งผลให้ “ตลาดพันธบัตรสหรัฐ” อ่อนแอลงตามไปด้วย..!!

Back to top button