พาราสาวะถีอรชุน
เพื่อความเป็นธรรมต่อ มีชัย ฤชุพันธุ์ หลังจากที่วันวานเขียนเรื่องการโยกมาตราที่เกี่ยวกับคลื่นความถี่จากหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไปอยู่หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนถูก คำนูณ สิทธิสมาน วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งประธาน กรธ.ได้อธิบายถึงเรื่องนี้โดยคนวิจารณ์ก็ยอมรับฟัง ส่วนสังคมจะเห็นด้วยตามนั้นหรือไม่ ลองไปดูสิ่งที่อธิบายกัน
เพื่อความเป็นธรรมต่อ มีชัย ฤชุพันธุ์ หลังจากที่วันวานเขียนเรื่องการโยกมาตราที่เกี่ยวกับคลื่นความถี่จากหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไปอยู่หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนถูก คำนูณ สิทธิสมาน วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งประธาน กรธ.ได้อธิบายถึงเรื่องนี้โดยคนวิจารณ์ก็ยอมรับฟัง ส่วนสังคมจะเห็นด้วยตามนั้นหรือไม่ ลองไปดูสิ่งที่อธิบายกัน
การปรับบทบัญญัติว่าด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ปรับจากทรัพยากรสื่อสารของชาติเป็นทรัพยากรของรัฐ ความมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อให้รัฐมีสิทธิเข้าดำเนินการรื้อระบบสารสนเทศหรือระบบการใช้คลื่นความถี่ในปัจจุบัน แต่เพื่อต้องการสื่อให้เห็นว่าคลื่นความถี่นั้นเป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน เพราะคำว่ารัฐในบทบัญญัติจะเป็นคำที่สื่อถึงบุคคลที่อยู่ภายในรัฐ ไม่ใช่คำว่า รัฐที่หมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน
ส่วนกรณีที่กำหนดให้รัฐพึงมีองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ต้องการสื่อไปยัง กสทช. ว่าการบริหารจัดการคลื่นความถี่ไม่ใช่ให้สิทธิขาดในการดูแลหรือจัดการคลื่น หรือนำคลื่นไปดำเนินการใดๆได้ตามใจชอบถือเสมือนว่าคลื่นความถี่นั้นเป็นของตนเอง การดูแลและการบริหารจัดการดังกล่าวต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม การปรับบทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่เป็นการเขียนเพื่อให้รองรับกับการบังคับใช้ร่างกฎหมายดิจิตอล ส่วนการเขียนให้ครอบคลุมถึงวงโคจรด้วยนั้น เพื่อต้องการรักษาผลประโยชน์ว่า วงโคจรเป็นสาธารณะสมบัติของประเทศแม้เอกชนจะได้สัมปทานจากรัฐ แต่ไม่อาจถือเป็นสมบัติของเอกชน ดังนั้น ผู้ใดที่ได้รับสัมปทานไปแล้ว ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วยเช่นกัน
เพื่อให้เกิดความเห็นที่รอบด้านมีอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง มองในมุมที่แย้งคำอธิบายของมีชัยว่า รัฐไม่มีทางเท่ากับประชาชน รัฐใหญ่กว่าตลอด การบัญญัติเช่นนี้จะทำให้หลักการเปลี่ยนไปพอสมควร พอมันเป็นสิทธิถ้ารัฐไม่ทำอะไรประชาชนก็สามารถอ้างได้ ทีนี้พอไม่ใช่สิทธิแล้ว ประชาชนจะอ้างให้จัดสรรไม่ได้อีก ส่วนรัฐก็จะอ้างว่าเป็นเรื่องของรัฐ รัฐมีสิทธิเต็มที่ที่จะจัดการ เป็นกิจการของรัฐโดยสมบูรณ์ มันก็จะแตกต่างมากในเชิงหลักการ
ที่ผ่านมาเราจะเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยมีการเรียกร้องให้ กสทช.ต้องรับฟังความเห็นโดยอ้างสิทธิพื้นฐาน แต่ต่อไปนี้เราจะอ้างอันนี้ได้อยู่ไหม มีชัยต้องตอบว่าจะให้อ้างอะไร เมื่อไม่อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว
สำหรับการเขียนให้ครอบคลุมถึงวงโคจรนั้น เป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องพูดถึง โดยคาดว่าเหตุที่มีการหยิบตรงนี้มาพิจารณา เพราะที่ผ่านมามีปัญหาระหว่างบทบาทของ กสทช.กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที จึงเขียนให้เรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐเพื่อให้ไอซีทีดูแลดาวเทียมเต็มที่ แต่คนร่างรัฐธรรมนูญคงลืมไปว่ามันจะไปเปลี่ยนหลักการเดิม
จะว่าไปแล้วจริงๆรัฐมีอำนาจที่จะกำหนดนโยบายอยู่แล้ว แม้แต่เรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว เรื่องอื่นๆที่เป็นสิทธิของประชาชนรัฐก็มีนโยบายได้อยู่แล้ว มันไม่จำเป็นต้องโยกมาอยู่ในหมวดนโยบายก็ได้ แต่มันต้องเน้นว่าอะไรเป็นสิทธิ รัฐมีนโยบายทุกเรื่อง ไม่จำเป็นว่าถ้าไม่อยู่ในหมวดนโยบายรัฐจะไม่มีนโยบายอะไรในเรื่องดังกล่าว
เมื่อเขียนในร่างรัฐธรรมนูญเช่นนี้จะเกิดปัญหา เพราะในวรรค 2-3 เขียนว่าเป็นทรัพยากรของรัฐที่รัฐจะมีนโยบาย แต่ให้ กสทช.เป็นคนจัดสรร มันก็จะกลับไปเรื่องเดิมคือ ให้กสทช.จัดสรรใช่ไหม แปลว่า กสทช.อยู่ในบทบาทกำกับดูแลตลาดที่เอกชนให้บริการ ในกรณีที่เอกชนแข่งขันกันหลายราย ถ้ามีรายเดียว เช่น ดาวเทียม แล้วให้ กสทช.จัดสรร กสทช.ก็ต้องกลับมาถามรัฐใช่ไหม มันจึงยังมีปัญหาอยู่ดีและเท่ากับไม่ได้แก้ปัญหาเดิม
นอกจากนี้ ยังทำให้สับสนด้วยเพราะพอเขียนว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของรัฐกับวงโคจรเป็นทรัพยากรของรัฐ จะมีคำถามว่าแล้วอย่างอื่นเป็นทรัพยากรของรัฐไหม ในรัฐธรรมนูญเดิมเขียนว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติ ดังนั้น เวลาตีความก็จะตีความแบบกว้างๆ เพราะเขียนแค่นี้ แต่ในนี้เขียนชัดเจนเลยว่าวงโคจร
ทั้งที่ วงโคจรเป็นส่วนเกี่ยวเนื่องจากความถี่ ไม่ใช่วงโคจรโดดๆ พอระบุว่าวงโคจรปุ๊บก็จะมีคำถามว่า แล้วเลขหมายล่ะ เพราะเลขหมายก็เกี่ยวกับความถี่ การใช้โครงสร้างโทรคมนาคมเกี่ยวไหม เป็นทรัพยากรของชาติไหม ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหาไปหมด ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าของเดิมมีปัญหาอยู่แล้ว แต่ที่เขียนใหม่ก็ไม่ได้แก้ปัญหา
สิ่งที่น่าสนใจในมุมของปิยะบุตรคือ มันจะยิ่งงงกว่าเดิมว่าจะเอายังไงกันแน่ เพราะรัฐธรรมนูญมันไม่ใช่นโยบาย ต้องเข้าใจก่อนว่า นโยบายของรัฐก็คือรัฐอยากจะทำหรือไม่ทำอะไร แต่รัฐธรรมนูญเลือกแบบนั้นไม่ได้ รัฐธรรมนูญจะต้องประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นหน้าที่หลัก คนร่างรัฐธรรมนูญสนใจแต่กลไกและใช้เครื่องมือผิดตัว รัฐธรรมนูญไม่ใช่เครื่องมือนโยบาย การไปเขียนนโยบายในรัฐธรรมนูญก็ผิดหมด
ระเบิดเวลาที่ว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่หลายคนกังวล แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคงเป็นประเด็นของความโปร่งใสในการบริหารบ้านเมือง เหมือนอย่างที่ โสภณ พรโชคชัย เขียนในบทความล่าสุดเรื่องที่ใดมีประชาธิปไตยย่อมมีความโปร่งใส หากประเทศที่มีการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ความโปร่งใสก็จะน้อยเพราะตรวจสอบไม่ได้
หากใครไปตรวจสอบก็อาจพบกับเภทภัยจากผู้มีอำนาจเผด็จการ และยิ่งประเทศใดอยู่ในภาวะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนานเข้าก็ยิ่งจะมีความโปร่งใสน้อยลง บรรดาผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีอำนาจวาสนายศศักดิ์โดยไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งก็ยิ่งคุ้นเคยและเสพติดอำนาจ ทำให้ประเทศยิ่งจะเลวร้ายลงนั่นเอง ทฤษฎีนี้จริงหรือไม่ ในบางประเทศน่าจะเห็นผลที่ชัดเจน