วัดใจประชาธิปัตย์ทายท้าวิชามาร
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ @ โซลูชั่นคอนเนอร์กำลังจะก่อวิกฤติรอบใหม่ เปล่า ไม่ได้พูดถึงระยะยาวไกลภายหน้า แต่แค่กระแสต่อต้านก็ทำให้สถานการณ์ใต้การปกครองของ คสช.ร้อนระอุขึ้นทันใด
ใบตองแห้ง
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ @ โซลูชั่นคอนเนอร์กำลังจะก่อวิกฤติรอบใหม่ เปล่า ไม่ได้พูดถึงระยะยาวไกลภายหน้า แต่แค่กระแสต่อต้านก็ทำให้สถานการณ์ใต้การปกครองของ คสช.ร้อนระอุขึ้นทันใด
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพ่อเฒ่าแสนกล ไม่ได้ต่างจากฉบับเนติบริกร บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในเนื้อหาสาระ แม้ยังไม่ประเจิดประเจ้อถึงขั้นมี คปป. เป็นอำนาจพิเศษเหนือรัฐบาล แต่ไปให้อำนาจศาล องค์กรอิสระ “ลงดาบ” นักการเมืองจากเลือกตั้ง โดยใช้ “ยาแรง” เช่นสั่งให้คณะรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ทั้งที่คณะรัฐมนตรีมาจากคะแนนนิยมของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเกินครึ่งประเทศ แต่ศาลองค์กรอิสระมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกกันเอง
พูดอย่างนี้ไม่ใช่ตุลาการไม่มีอำนาจลงโทษนักการเมือง ถ้ารัฐมนตรีทุจริตก็ต้องติดคุก ส.ส.ยิงคนตายก็ต้องติดคุก แต่หลักสำคัญในการถ่วงดุลอำนาจ 3 ฝ่ายคือ ตุลาการไม่มีอำนาจลงโทษการตัดสินใจดำเนินนโยบายของอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ แม้บางกรณีมีอำนาจระงับยับยั้งหากกระทบสิทธิประชาชน แต่การตีความต้องเคร่งครัด บทบัญญัติต้องชัดเจนเป็นธรรม ไม่ใช่เปิดช่องกว้างจนตีความล้มรัฐบาลได้ ไม่ใช่เขียนกฎหมายเหวี่ยงแห แบบผิดคนเดียวยุบทั้งพรรค ผิดคนเดียวไปทั้งคณะรัฐมนตรี
การเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้คือเขียนให้ตุลาการและองค์กรอิสระเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ชี้เป็นชี้ตายรัฐบาล การเลือกตั้ง การดำเนินนโยบายตามสัญญาประชาคม การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความเดือดร้อนของประชาชน ฯลฯ สมมติอีก 2 ปี รัฐบาลเพื่อไทยออกนโยบาย “ช้อปช่วยชาติ” นิรโทษภาษี ให้เช่าแผ่นดิน 99 ปี ฯลฯ ถ้า สตง. ป.ป.ช. กกต. ไม่ให้ทำก็เสร็จกัน ขืนทำก็โดนศาลรัฐธรรมนูญสั่งพ้นตำแหน่ง เผลอๆ ตัดสิทธิตลอดชีวิต
นั่นทั้งๆ ที่ศาล องค์กรอิสระไม่เชื่อมโยงประชาชนเลย มาจากกรรมการสรรหาแวดวงเดียวกัน แล้วไปผ่านวุฒิสภา 200 คนจากการล็อบบี้สาขาอาชีพ
อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญเฒ่าแสนกลต่างจากร่างบวรศักดิ์บ้างเหมือนกัน คือตัดการมีส่วนร่วมของ “ภาคประชาสังคม” NGO ปราชญ์ชาวบ้าน ที่จะเข้ามาเป็นวุฒิสมาชิกจากการสรรหา เป็นสภาพลเมืองในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งไม่น่าแปลกใจถ้าดูสัดส่วนกรรมาธิการมีพวก “ประชาสังคม” เข้าไปนั่งกันสลอน (แต่ตอนนี้โดนดัดหลังจากกรณี สสส.)
ที่น่าสังเกตคือร่างรัฐธรรมนูญบางประเด็นอาจเป็นที่พึงพอใจของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยี่สิบกว่าปีไม่เคยชนะเลือกตั้ง มีแต่ฉวยโอกาสรัฐบาลล้ม ดึงพรรคดึงคนดึงงูเห่าดึงปาก (ห้อย) มาตั้งรัฐบาล ครั้งหลังสุดก็มาจากม็อบปิดสนามบิน ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน
การให้อำนาจศาล องค์กรอิสระ เตะตัดขาล้มรัฐบาลเลือกตั้งได้ น่าจะเป็นอะไรที่พรรคประชาธิปัตย์ชอบ จะเห็นได้ว่าท่าทีพรรคประชาธิปัตย์ต่อ กรธ.มีชัย ยังไม่ร้อนแรงเท่าท่าทีต่อ กมธ.บวรศักดิ์ แม้แน่ละ ประชาธิปัตย์คัดค้านหลายประเด็น แต่เป็นพรรคการเมืองนี่ครับ จะให้แบะขาอ้าซ่ารับทุกเรื่องได้ไง ที่ผ่านมาก็ได้ฉายาติดตัวไปแล้วว่า “พรรคแมลงสาบ” จะให้รับง่ายๆ ก็ยังมียางอาย
กระนั้นอย่าลืมว่านี่เพียงรัฐธรรมนูญร่างแรก ยังมีการขัดเกลาแก้ไขใหม่ ถึงปลายเดือนมีนาคม เฒ่าแสนกลอาจแก้บางประเด็นให้พรรคประชาธิปัตย์ เช่น กลับไปมี ส.ว.จากเลือกตั้ง 77 คน กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แล้วก็เออออกันว่าพอรับได้ รับไปก่อน แก้ทีหลัง
แต่เอาเข้าจริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีทางแก้ได้เลยนะครับ