จับตา “อุตสาหกรรมสีรุ้ง” เนื้อหอม! หลังผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

อุตสาหกรรมสีรุ้ง ที่มีแนวโน้มเติบโตในเชิงบวก ภายหลังมีการผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม


จากกรณีที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง โดยไม่มีการแก้ไข  ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ภาคประชาชนและรัฐบาลต่างจัดงานเฉลิมฉลอง รวมถึงนานาชาติที่ร่วมแสดงความยินดีกับประเทศไทย อีกทั้ง การผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ยังส่งผลให้ “อุตสาหกรรมสีรุ้ง” เติบโตในเชิงบวก

ทั้งนี้ “สำนักข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้รวบรวมอุตสาหกรรมสีรุ้ง ที่มีแนวโน้มเติบโตในเชิงบวก ภายหลังมีการผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มาให้ติดตามกัน มีดังต่อไปนี้

ซีรีส์วาย เป็นอุตสาหกรรมเนื้อหอมของไทยในเวลานี้ มีข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้า พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกซีรีส์วายกว่า 177 เรื่อง โดยเฉพาะในปี 2566 มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท และ หลัการผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม คาดว่า จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ไม่นับรวมมูลค่าจากสินค้า บริการ การท่องเที่ยว ที่ตามมาจากกลุ่มแฟนคลับมากขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า

อุตสาหกรรมเพลงไทย อุตสาหกรรมเพลงกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง และต้องยอมรับว่า กลุ่มเพลงที่มีอิทธิพลส่งผลให้อุตสาหกรรมเพลงโตขึ้นจากเดิม คือ กลุ่มเพลงที่ตรงใจ กลุ่ม LGBTQ+  หรือ เพลงของศิลปินที่เป็นไอคอนของกลุ่ม LGBTQ+ ล่าสุด มีข้อมูลว่า ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง GMM Music โดย นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน)   ประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก ‘เทนเซ็นต์ มิวสิค เอ็นเตอร์เทนเมนต์ กรุ๊ป’ ผู้นำธุรกิจดนตรีและความบันเทิงในเครือของเทนเซ็นต์ และ ‘เทนเซ็นต์ โฮลดิ้ง ลิมิเตท’ ยักษ์ใหญ่ด้าน เทคโนโลยี และ Platform จากประเทศจีน เข้าร่วมลงทุนเชิงกลยุทธ์ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ในสัดส่วนหุ้น 10% คิดเป็นมูลค่า 2,570 ล้านบาท และจะสร้างมูลค่าบริษัทสูงถึง 25,700 ล้านบาท

โดยเมื่ออุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโต ทำให้ศิลปินไทยได้ประโยชน์ไปด้วย โดยเฉพาะ ศิลปินขวัญใจกลุ่มหลากหลายทางเพศ อย่าง ” คริสติน่า อากีลาร์ ” เปิดใจกับ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ว่า เมื่อสังคมเปิดกว้าง ยอมรับ กลุ่มหลากหลายทางเพศ และ ธุรกิจเกี่ยวกับ LGBTQ+ มากขึ้น ส่งผลให้ศิลปิน โดยเฉพาะ ศิลปินที่เป็นไอคอนของกลุ่มLGBTQ+ มีงานจ้างเพิ่มมากขึ้น อย่างตนเอง ตอนนี้ มีงานจ้างยาวไปถึงปลายปี อีกทั้ง เพลง ” ประวัติศาสตร์ “ของตน ก็ถูกนำไปเปิดใช้ในเชิงพาณิชย์ กลายเป็นเพลงเฉลิมฉลอง หลังร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านสภาฯ

แดร็ก (Drag) หนึ่งในธุรกิจที่ถูกจับตามองหลังจากที่ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รับปากจะสนับสนุนวงการ Drag อย่างเต็มที่ เข้าสู่คณะอนุกรรมการ Soft Power ด้านศิลปะ และ จากการค้นข้อมูล พบว่า ในต่างประเทศ แดร็ก (Drag) เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นในประเทศ ไต้หวัน สิงคโปร์ อังกฤษ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันไทยถือว่ามีความสามารถเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก มีเด็กและเยาวชนสนใจมองว่าเป็นศิลปะ การแสดงแขนงหนึ่ง และสามารถทำเป็นอาชีพได้

เมื่ออุตสาหกรรมสีรุ้ง แต่ละประเภทที่เรายกตัวอย่างมา มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลังสังคมเปิดรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

ด้าน นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมสีรุ้งอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยการหาตลาดใหม่ ๆ เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมมือกับเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก นำเสนอซีรีส์วายของไทย สู่สายตาเวทีโลก

นอกจากนี้ ยังมีในด้านการสนับสนุนทางการแพทย์ด้านการข้ามเพศ ที่กระทรวงพาณิชย์ เห็นด้วยที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องการเข้ามาที่ไทย โดยเฉพาะการผลิตฮอร์โมนเพราะ ชายข้ามเพศ ไม่ว่าจะชาวไทย หรือ ต่างชาติ ต้องฉีดทุก 1-2 สัปดาห์ ในส่วนนี้เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกระทรวงพาณิชย์จะนำไปศึกษารายละเอียด และ ทำงานร่วมกันต่อไป

ส่วนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็ให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย มีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน

Back to top button