พาราสาวะถี

ถือว่าคุ้มค่ากับการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายนนี้ โดย 3 วันสุดท้ายเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2568


ถือว่าคุ้มค่ากับการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายนนี้ โดย 3 วันสุดท้ายเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2568 แต่วันแรกวันเดียวสมาชิกก็ได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล ด้วยการผ่านร่างกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ นั่นก็คือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … 

สำหรับกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น เป็นการพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาซึ่งถือเป็นด่านสุดท้ายในการผ่านร่างกฎหมาย โดยสื่อต่างชาติแทบทุกสำนักต่างพร้อมใจกันนำเสนอว่า สภาสูงของไทยได้ผ่านกฎหมายฉบับประวัติศาสตร์ของประเทศ ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชียต่อจากไต้หวันและเนปาล และเป็นประเทศแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ถือเป็นการทำงานทิ้งทวนที่สร้างคุณูปการให้กับบ้านเมืองอย่างแท้จริงสำหรับพวกลากตั้ง

ทั้งนี้ หลังจากที่กฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบแล้ว รัฐบาลก็ได้จัดงานเฉลิมฉลองที่ทำเนียบรัฐบาล มี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์รับหน้าที่ประธานในพิธีแทน เศรษฐา ทวีสิน มีบรรดาเซเล็บ และบุคคลหลากหลายวงการของกลุ่ม LGBTQIAN+ เข้าร่วมงานอย่างคึกคัก โดยที่นายกฯ ได้โพสต์ข้อความต่อความสำเร็จครั้งนี้ว่า รัฐบาลจัดงานฉลองให้กับความสำเร็จที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ฉลองให้กับจุดเริ่มต้นของความรักที่เท่าเทียม ความหลากหลายไม่ใช่ความแตกต่าง ขอให้ทุกความรักงดงาม และเต็มไปด้วยพลัง

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการประชุมสภาสูงก่อนที่จะผ่านกฎหมายฉบับนี้ ในการอภิปรายก็ทำให้ได้เห็นความสุดโต่งของพวกลากตั้งบางราย ที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยการยกเรื่องสถาบันครอบครัวมาอ้าง ทั้งที่ความจริงปัจจุบัน พ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีลูกอยู่ในกลุ่มเหล่านั้น ต่างก็เรียนรู้และยอมรับกันจำนวนมากแล้ว เพราะเข้าใจถึงสาเหตุว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่พวกหัวโบราณที่มองความแตกต่างทางเพศเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ และไม่ควรได้รับการยอมรับทางสังคม

สำหรับการลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติของสภาผู้แทนราษฎรในวันเดียวกันนั้น เป็นการโหวตด้วยเสียงเอกฉันท์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการที่จะปลดล็อกกระบวนการเบื้องต้นที่ยุ่งยากต่อการนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างที่รู้กันหากยึดกติกาเดิมเพื่อทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ไม่มีทางที่จะสำเร็จ เพราะติดล็อกเงื่อนไขเสียงข้างมาก 2 ชั้น นั่นก็คือ แม้เสียงของผู้ไปลงมติเห็นด้วยจะเป็นเสียงข้างมาก แต่ถ้าเสียงของผู้ไม่เห็นด้วยรวมกับผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนรวมกันแล้วมากกว่า ก็เป็นอันว่าประชามติในเรื่องนั้นไม่ผ่านความเห็นชอบ

ปมปัญหาดังกล่าว จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายสรุปในการพิจารณาร่างกฎหมายว่า เป็นความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อการแก้มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. และไม่ให้ พ.ร.บ.ประชามติขัดขวางการแก้ไข ดังนั้น ด้วยหลักเกณฑ์ที่ตรงไปตรงมาคือ รัฐธรรมนูญฉบับแม่ทำประชามติด้วยหลักเกณฑ์อย่างไร ประชามติที่เกิดขึ้นโดยกฎหมายประชามติ ต้องเป็นไปหลักเกณฑ์เดียวกัน

การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ถูกยับยั้งหรือขัดขวาง แต่หากไม่แก้ไขให้ถูกต้อง การทำประชามติที่เกิดขึ้น อาจทำให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกยาวนาน เพราะจะสรุปว่าประชาชนทั่วประเทศไม่เห็นด้วย หลังจากนี้ต้องติดตามการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 31 คนที่จะพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านวาระแรกไปแล้ว โดยมีการกำหนดแปรญัตติ 15 วัน ใช้ร่างแก้ไขของรัฐบาลเป็นหลักจากที่เสนอ 4 ร่าง ซึ่ง 3 ร่างเป็นของพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย และก้าวไกล

น่าติดตามอีกอย่างเมื่อชื่อกรรมาธิการในส่วนของก้าวไกลมีการส่ง ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้ามาร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย คงจะได้เห็นบทบาทในการเสนอแก้ไขข้อความสำคัญในหลายประการ ที่น่าสนใจคงจะเป็นเรื่องการตั้งคำถาม การออกแบบคำถามประชามติ เพราะไม่ได้อยู่ในเนื้อหาของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ปมสำคัญคงหนีไม่พ้นจะมีการเรียกร้องให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 หรือไม่ เพราะทางพรรคร่วมรัฐบาลแสดงจุดยืนชัดว่าไม่แตะทั้งสองหมวดดังกล่าว

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 4 มาตราของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ประกาศเดินหน้าเลือก สว.ในระดับประเทศต่อไป ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ ใช้อิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นสถานที่เลือก โดยผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดเข้าสู่กระบวนการเลือกจำนวน 3,000 ราย แบ่งเป็นชาย 2,164 ราย หญิง 836 ราย

การเดินหน้าเลือก สว.ถือเป็นการทำงานในระบบปกติ มีวลีทองของเลขาธิการ กกต.ที่ชวนให้คิดต่อการชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญกับคำพูดที่ว่า “ควรจะยินดีกับประเทศไทยที่ยังเดินต่อไปได้ตามครรลองที่ควรจะเป็น” แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามที่จะทำให้กระบวนการไม่เป็นไปตามวิถี พยายามที่จะสกัดกั้นเพื่อหวังผลในแง่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ที่น่าคิดจากสิ่งที่แสวงบอกคือ กระบวนการที่เดินหน้าต่อจะได้ สว.แบบไหน เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้หรือไม่ คงปฏิเสธความรับผิดชอบในส่วนนี้ไม่ได้เช่นกัน

การจะได้ สว.แบบไหน ควรจะเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ตามฐานานุรูปของแต่ละคนว่า มีหน้าที่ต่อบ้านเมืองอย่างไร หากแต่เพียงหวังมุ่งหาประโยชน์ให้แก่ตนหรือหมู่คณะตน จากการเลือก สว.ครั้งนี้ การจะได้ สว.ตามที่ออกแบบไว้ตามรัฐธรรมนูญคงจะเกิดขึ้นได้ยาก กกต.ถ้ายึดตามที่เลขาฯ ว่า คงไม่เกิดข้อกังขาจากสังคม ส่วนการเลือก สว.ที่ดำเนินไป ไม่ใช่น่ารังเกียจเฉพาะพวกที่ทุจริตเพื่อให้ตัวเองได้ตำแหน่ง แต่ต้องประจาน และถ่มถุยกับพฤติกรรมของพวกที่พยายามจะล้มการเลือกครั้งนี้ด้วย

อรชุน

Back to top button