พาราสาวะถี

เกิดคำถามว่าทำไมการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ที่จบลงไปแล้ว จึงราบรื่น เรียบร้อย


เกิดคำถามว่าทำไมการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ที่จบลงไปแล้ว จึงราบรื่น เรียบร้อย มีการปะทะกันระหว่างแกนนำพรรครัฐบาลอย่างเพื่อไทยกับแกนนำฝ่ายค้านคือก้าวไกลบ้างเล็กน้อย พอเป็นสีสัน ไม่ใช่เพราะพรรคแกนนำฝ่ายค้านมีเป้าหมายที่จะไปยื่นศาลปกครองกลางหลังจากร่าง พ.ร.บ.งบฯผ่านวาระ 3 ไปแล้ว และรัฐบาลยังเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ตามที่ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคขู่เอาไว้

หากแต่เป็นปัญหาภายในของก้าวไกลเอง เมื่อชะตากรรมว่าด้วยการยุบพรรคยังไม่จบ บรรดา สส.ของพรรคต่างก็ไม่อยากจะฮาราคีรีตัวเองทางการเมือง ถ้าเดินหน้าชนแบบแตกหัก เกิดอนาคตพรรคไม่ได้ไปต่อ แล้วต้องหาที่เกาะใหม่ จำนวนไม่น้อยย่อมต้องการที่จะไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล มากกว่าตามไปอยู่พรรคใหม่ อภิปรายงบเที่ยวนี้จึงเป็นเหมือนการซื้อใจ ทอดไมตรี ขณะเดียวกัน เป็นธรรมดานักเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นประเภทน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า 

การเป็นฝ่ายค้านไม่ได้หมายความว่าจะต้องปะฉะดะ ท้ารบกับฝ่ายกุมอำนาจไปทั่ว ยิ่งเป็นเรื่องของงบประมาณอย่างที่รู้กัน สถานะที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่ปัญหา ถ้าสายสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปด้วยดี มีอะไรให้ช่วยเหลือย่อมไม่ใช่เรื่องยาก พวกนักเลือกตั้งระบบเขต แม้แต่ สส.ปาร์ตี้ลิสต์แต่มีพื้นที่ทำมาหากินอยู่ต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ก็อาศัยคอนเนคชันวิ่งเข้าหาเพื่อต่อยอดทำทุนกันทั้งนั้น ทุกพื้นที่รู้ดีว่าเส้นทางไหน งานใดเป็นของใคร ใครนอมินีใคร ไก่เห็นตีนงูกันทั้งนั้น

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ระดับนำของพรรคเองในส่วนผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ต่างก็รู้กันว่า ด้านหนึ่งคือตรวจสอบ ต่อสู้ เร้ากระแส สร้างความนิยมกับคนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่อีกด้านก็เดินเกมประสานผลประโยชน์เพื่อไม่ให้กระทบกับธุรกิจของครอบครัวและเครือข่าย เพราะทุกอย่างล้วนมีต้นทุน การเมืองก็เช่นเดียวกัน คงไม่มีใครจะมาด้วยอุดมการณ์ แล้วไม่ควักกระเป๋าจ่าย ประเภทแมวขาวใสสะอาดจะมีแต่ในจินตนาการเท่านั้น ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นพวกแมวสีเทา

ไม่ต่างจากพวกนักการเมืองน้ำเน่า ที่ชอบอ้างตัวว่าเล่นการเมืองแบบใหม่ ไม่เน้นสาดโคลน ชอบสร้างภาพเหมือนแสดงละคร ทว่าความจริงกลับกลอกกลิ้งยิ่งกว่าน้ำบนใบบอน คนประเภทนี้ดูไม่ยาก มักจะยกหางตัวเอง แล้วกล่าวหาคนอื่น โดยคิดว่าไม่มีใครจับได้ไล่ทัน ทั้งที่ผ่านมา ถ้าย้อนกลับไปมองในยุคที่เคยอยู่ในอำนาจ หรือมีตำแหน่งแห่งหนทางการเมือง ไม่ได้ปรากฏผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มิหนำซ้ำ ยังถูกมองอย่างดูแคลนเสียด้วยซ้ำว่า ดีแต่พูด

การเมืองว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำเอาคนซีกรัฐบาลต้องดาหน้าออกมาตอบโต้ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย จากประเด็นที่กล่าวหาว่าพรรคแกนนำรัฐบาลมีแนวคิดที่จะโละ สส.บัญชีรายชื่อ ให้มีแต่ สส.แบ่งเขต 500 คนเพื่อหวังที่จะชนะพรรคก้าวไกล จึงไม่แปลกที่ ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมกฎหมายของพรรค จะบอกว่าเพื่อไทยไม่เคยมีแนวคิดแบบนี้ สิ่งที่เจ๊หน่อยพูดมา ไม่มีมูลความจริงอะไรทั้งสิ้น “มันเป็นเท็จ”

ขณะที่ นพดล ปัทมะ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทย ก็ตอกกลับแบบนิ่ม ๆ น่าจะเป็น “จินตนาการบริสุทธิ์ของคนที่พูด” เพราะเพื่อไทยไม่มีการพูดคุยกัน บางทีสิ่งที่อยากจะพูดมากไปกว่านั้น แต่ด้วยมารยาทแล้ว นพดลจึงบอกแค่ว่าพรรคแกนนำรัฐบาลไม่ใช่ประเภทที่วัน ๆ เอาแต่จะแก้กฎ กติกาเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ ไม่เคยคิดที่จะทำเช่นนั้น เสมือนย้อนกลับไปยังต้นเรื่องว่า ในสมองคงคิดแต่ทางลบเพื่อหวังจะให้พรรคของตัวเองมีที่นั่งได้มากพอ เพื่อการต่อรองทางการเมือง

ไม่ได้มีแค่เพื่อไทย นิกร จำนง จากชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อแก้ปัญหาความเห็นต่างในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ตอบโต้เช่นเดียวกัน โดยชี้ว่า “เป็นประเด็นที่มโนไปเอง” ไม่มีที่มาและไม่มีที่ไป เรื่องดังกล่าวรัฐบาลไม่มีการตั้งธงไว้ เพราะการออกแบบกติกาเลือกตั้งให้เป็นแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการทำประชามติเพื่อให้เกิดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนเป็นผู้ดำเนินการ

การออกแบบให้มี สส.เขต และ สส.บัญชีรายชื่อถือเป็นความลงตัวในระบบการเมืองไทย นิกรตั้งคำถามว่าสิ่งที่เจ๊หน่อยมโนไปนั้นใครจะเป็นผู้เสนอ เพราะนโยบายรัฐบาลมีธงไว้อยู่แล้วว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย หรือฝ่ายค้านจะเสนอเองหรือไม่ ความจริงไม่จำเป็นที่จะต้องมีใครมาให้ความเห็นต่อข่าวนี้ ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนโอกาสที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงเป็นไปได้ยาก แค่คิดก็ผิดแล้ว อาจเข้าทำนองไม่บ้าก็โง่ 

เหมือนอย่างที่นพดลอธิบาย สมมติว่ามีแนวคิดที่จะยกเลิก สส.บัญชีรายชื่อ ก็ยากที่จะผลักดันให้เกิดความสำเร็จได้ เนื่องจาก สว.และพรรคฝ่ายค้านสามารถบล็อกการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่สามจะต้องได้เสียงฝ่ายค้านสนับสนุนอย่างน้อยร้อยละ 20 และ สว. 67 เสียง จึงจะผ่านได้ ถ้าจะเรียกว่าฝ่าย สว.และฝ่ายค้านมีสิทธิวีโต้ก็พูดได้ ดังนั้น อย่าไปเสียเวลาถกเถียงประเด็นว่า พรรคเพื่อไทยจะแก้รัฐธรรมนูญยกเลิก สส.บัญชีรายชื่อกันอีก เพราะมันไม่มีอยู่จริง

หลังจากผ่านพ้นวันที่ 18 มิถุนายนไปแล้ว ยังมองไม่เห็นว่าสถานการณ์ร้อนทางการเมืองจะมีอะไรให้น่ากังวลกันอีก กรณีผลสอบสองบิ๊กตำรวจที่จบลงด้วยการส่งตัว พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล กลับไปนั่งเป็น ผบ.ตร. และรอกระบวนการเพื่อให้ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล ได้กลับไปทำหน้าที่ รอง ผบ.ตร.ตามเดิม ก็ทำให้เห็นแล้วว่า เมื่อสมประโยชน์ และไม่สร้างแรงกระเพื่อมใด ๆ ย่อมปล่อยให้ทุกอย่างว่ากันไปตามกระบวนการ ส่วนบทสรุปของแต่ละคน แต่ละฝ่าย จะจบลงอย่างไรนั้น ไม่ต้องไปคาดเดาให้ปวดหัว ขึ้นอยู่กับ “ดีล” ว่าคุยและจบกันแบบไหน

อรชุน

Back to top button