อุปทานหมู่!.. ‘ขายหมู’ หุ้นไฟฟ้า

ทันทีที่พลังงานเปิดประชาพิจารณ์ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP2024) ช่วงกลางเดือนมิ.ย. ทำเอา “หุ้นไฟฟ้าว้าวุ่น” กันยกใหญ่.!


ทันทีที่พลังงานเปิดประชาพิจารณ์ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP2024) ช่วงกลางเดือนมิ.ย. 67 ที่ผ่านมา ทำเอา “หุ้นไฟฟ้าว้าวุ่น” กันยกใหญ่..! ด้วยข่าวสารที่ปรากฏออกมาตามสื่อต่าง ๆ ว่า PDP2024 ฉบับใหม่ มีการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังทดแทนจาก 36% เพิ่มเป็น 51%

ทำให้นักลงทุนถอดรหัสกันว่า..แบบนี้อาจต้องลดสัดส่วน “ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล” ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ..!? 

จนเป็นเหตุให้เกิดอุปทานหมู่แห่ขายหุ้นไฟฟ้าประเภท IPP และ SPP ออกมาอย่างหนักโดยเฉพาะหุ้นเบญจภาคีไฟฟ้าอย่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF, บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM, บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC

งานนี้..กว่าจะรู้สึกตัวกันได้ราคาหุ้นรูดไปเกือบ 10% หลายคนกลายเป็นพ่อค้า “ขายหมู” ไปโดยไม่รู้ตัว..!!?

จนล่าสุด “ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ออกมาชี้แจงแถลงไขว่า ความเป็นจริงภาพรวมกิจกรรมการลงทุนตามแผน PDP2024 กระทรวงพลังงาน เน้นให้เกิดการเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ที่สามารถรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพระยะยาว เนื่องจาก “ค่าไฟฟ้า” เป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ

แม้ว่า “ระดับค่าไฟฟ้า” ไม่ได้สูงขึ้น แต่ไม่ได้ส่งผลให้กิจกรรมการลงทุนภาคไฟฟ้าลดลง เพราะมีการเพิ่มสัดส่วนการก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีมูลค่าสูงกว่ากิจกรรมการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิล

โดยมีข้อสนับสนุนจากข้อมูลการวิเคราะห์การลงทุนจากหน่วยงานด้านพลังงานต่างประเทศ ชี้ให้เห็นชัดว่าการลงทุนจากพลังงานหมุนเวียนจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนสูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล..

ดังนั้นตามแผน PDP ฉบับใหม่ ยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนโรงไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันไว้แล้ว และจะเปิดรับเพิ่มเติมตามแผนช่วงก่อนปี พ.ศ. 2573 กว่า 650,000 ล้านบาท แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 13,300 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าลงทุน 525,000 ล้านบาท (39.47 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์) การลงทุนโรงไฟฟ้าฟอสซิล 5,300 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 125,000 ล้านบาท (23.58 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์)

นี่ยังไม่รวม “สมาร์ทกริด” ที่ต้องเงินลงทุนอีกกว่า 400,000 ล้านบาท..!!

อีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญ..ทำให้ PDP 2024 ต้องเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงาน เป็นเพราะว่าไทยประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอนระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26)

ที่มีเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608

เมื่อส่องดูเนื้อใน “หุ้นเบญจภาคี” ดังกล่าวพบว่าทุกบริษัทมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานทดแทนอยู่แล้ว

นั่นก็หมายความว่าตาม PDP2024 จึงเป็นปัจจัยเชิงบวกมากกว่าลบ..ต่อหุ้นไฟฟ้าดังกล่าว

ส่วนความผันแปรของ “ค่าไฟฟ้า” แต่ละงวด ก็ไม่ได้คิดมาจากต้นทุนพลังงานเพียงอย่างเดียว เพราะอย่าลืมนะว่าบรรดา “ผู้ใช้ไฟฟ้า” มีหนี้ที่ติดค้างกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) อยู่เกือบ 100,000 ล้านบาท ที่ต้องถูกผ่อนส่งผ่านค่าไฟฟ้า ไม่วันนี้ก็วันหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้..!!

เล็กเซียวหงส์

Back to top button