เบื้องลึก วายุภักษ์(3) และ TESG โฉมใหม่

กองทุนรวมที่คล้ายกับวายุภักษ์ มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ที่ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวถึงนั้น ว่ากันว่า เพิ่งจะถูกคิดขึ้นในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมานี้เอง


กองทุนรวมที่คล้ายกับวายุภักษ์ มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ที่ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวถึงนั้น

ว่ากันว่า เพิ่งจะถูกคิดขึ้นในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมานี้เอง

ก่อนจะมาแถลงข่าวในวันจันทร์ที่ 24 มิ.ย.นั่นแหละ

ส่วนที่มาของแนวคิดตั้งกองทุนดังกล่าวที่จะทำครั้งนี้ มาจากบุคคลหนึ่งเสนอต่อ “พิชัย” รมว.คลัง ก่อนที่ขุนคลัง จะเห็นด้วย และให้เริ่มนับหนึ่งเพื่อศึกษาทันที

ตัวของพิชัย เองนั้น หากย้อนอดีตกลับไป

เขาเคยเป็นบุคคลหนึ่งที่เคยอยู่ในทีมงานการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ด้วย

ประเด็นที่ต้องจับตาและติดตาม นั่นคือ กองทุนฯ จะกำหนดรูปแบบออกมาอย่างไร

หากจำกันได้ในครั้งของการจัดตั้งกองทุนรวมวายุภักษ์ครั้งแรกสมัย “สุชาติ เชาว์วิศิษฐ” เป็น รมว.คลัง

เริ่มแรกของการขายหน่วยลงทุนของกองทุนฯ กลับไม่ได้รับความสนใจจากประชาชน คือ ขายแทบไม่ได้ เพราะนักลงทุนและประชาชนไม่รู้จัก

ทำให้ต้องมีการปรับรูปแบบของกองทุนใหม่

เช่น การคุ้มครองเงินต้น  และการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำ 3%

และที่สำคัญไปดึงธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เข้ามาถือในหน่วยลงทุนของกองทุนวายุภักษ์

หลังปรับเกณฑ์และวิธีการใหม่

กองทุนฯ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม เข้ามาซื้อหน่วยลงทุน จนได้เม็ดเงินลงทุนตามที่ต้องการ

บรรดาธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ รับผลตอบแทนสูงกันสนุกสนาน จนไม่อยากจะขายหน่วยลงทุนคืนให้กับรัฐ

สำหรับผู้จัดการกองทุนฯ ที่เป็นผู้บริหารกองทุนวายุภักษ์ (1) (2) คือ

1.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM

2.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC

ทั้ง 2 บลจ. ต่างมีกระทรวงการคลังถือหุ้นในสัดส่วนใหญ่ ทั้งถือหุ้นโดยทางตรงและทางอ้อม

ส่วนวายุภักษ์ (3) (หรืออาจจะชื่ออะไรก็แล้วแต่) หากอ้างอิงจากข้อมูลที่ ขุนคลัง พิชัย บอกมาล่าสุด จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/2567

แม้จะยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุน

ทว่า คาดกันว่า รูปแบบไม่น่าจะแตกต่างจากกองทุนรวมวายุภักษ์ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ ทั้งสินทรัพย์ที่จะลงทุน การคุ้มครองเงินต้น และการันตีผลตอบแทน

ส่วนผู้บริหารกองทุนคงไม่พ้น KTAM และ MFC

หากจะถามว่า มีโอกาสที่จะให้ บลจ.แห่งอื่นเข้ามาบริหารหรือไม่

คำตอบคือ “มี”

แต่อาจจะเสี่ยงเกินไปหากให้ บลจ.อื่นเข้ามาบริหาร เพราะเดี๋ยวจะสั่งการไม่ได้ จากการอยู่นอกเหนือการควบคุมของคลัง

ขณะที่ที่ผ่านมา ทั้ง KTAM และ MFC ถือว่าบริหารกองทุนฯ (วายุภักษ์) (1) (2) ได้ดี

เบื้องต้น นักวิเคราะห์จากหลายโบรกฯ ต่างแสดงความมั่นใจว่า กองทุนที่คล้ายกับกองทุนวายุภักษ์ จะเข้ามาช่วยกอบกู้ตลาดหุ้นไทยพลิกฟื้นขึ้นมาได้

ส่วนกองทุน TESG ภายใต้เงื่อนไขใหม่

มีรายงานข่าวจากคลังเช่นกันว่า ไม่ใช่รูปแบบที่ทางสภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) เสนอมา

ส่วนการเคาะเงื่อนไขต่าง ๆ ทาง FETCO ยังไม่ได้รับทราบรายละเอียดมาก่อนหน้าด้วยเช่นกัน

แต่ก็มีข้อมูลออกมาอีกว่า เงื่อนไขลงทุนของ TESG ที่คลังสรุปออกมานั้น

ดีกว่าที่ทาง FETCO เสนอเข้ามา

ส่วนกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF มีการเสนอเข้ามาในรูปแบบเดิม

และได้ถูกตีตกไปแบบอัตโนมัติแล้ว

ธนะชัย ณ นคร

Back to top button