ค่าเงินเยนกับทฤษฎีสมคบคิด
วันที่ 26 มิ.ย.67 ค่าเงินเยนทำสถิติอ่อนสุดในรอบ 30 ปี เมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์สหรัฐก่อนที่ทางการญี่ปุ่นจะปล่อยข่าวออกมาว่า BOJ จะเข้าแทรกแซงตลาดเงิน
วันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมาค่าเงินเยนทำสถิติอ่อนสุดในรอบ 30 ปี (ที่ 161 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์สหรัฐก่อนที่ทางการญี่ปุ่นจะปล่อยข่าวออกมาว่าบีโอเจหรือธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดเงินซึ่งยังผลให้เมื่อวานนี้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างกระทันหัน แต่ยังยืนอยู่ที่ 160 เยนต่อดอลลาร์อยู่ดี
เงินเยนที่อ่อนค่าลงดูเหมือนจะเป็นความจงใจของญี่ปุ่นที่ทำให้เงินเยนด้อยค่าลงเพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องการให้เงินเยนอ่อนค่าเพื่อรักษาความได้เปรียบทางดุลการค้ากับสหรัฐฯ ต่อไป และทำให้ตลาดหุ้นโตเกียวมีดัชนีนิกเกอิเป็นขาขึ้น
กรณีค่าเงินเยนอ่อนโดยเจตนาของญี่ปุ่นนั้นจึงเป็นทฤษฎีสมคบคิดระหว่างเฟดฯ กับธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ Bank Of Japan (BOJ) โดยที่ทางเฟดฯ ไม่เคยกล่าวหาว่า BOJ กำลังบิดเบือนเพื่อให้เงินเยนอ่อนค่าลงไม่เหมือนกับที่ตั้งข้อกล่าวหาธนาคารกลางของจีนหรือ People’s Bank Of China (PBOC) ว่าจงใจทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงและบีบจีนให้ปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นเพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับจีนลง
ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นได้กลายเป็นเครื่องมือรองรับนโยบายการค้าและการเงินของเฟดฯ มาโดยตลอดนับตั้งแต่เกิดข้อตกลงที่โรงแรมพลาซานิวยอร์กหรือ The Plaza Accord ในปี 1970 ที่ลือลั่นในการที่เงินเยนถูกบังคับให้แข็งค่าขึ้นจนญี่ปุ่นต้องหลบหนีด้วยการส่งออกเงินเยนมาลงทุนในไทยในสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ จนกระทั่งไทยกลายเป็นฐานการผลิตและส่งออกของญี่ปุ่นจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
เพียงแต่ปรากฏการณ์ค่าเงินเยนอ่อนครั้งนี้น่าจะเกิดจากความร่วมมือกันของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ที่ต้องการทำให้จีนปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้นหลังจากที่จีนไม่ยอมปรับค่าเงินหยวนมายาวนาน แต่จีนยังคงยืนการปรับค่าเงินหยวนลงไปอยู่ที่แถว ๆ 7.00 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่จีนได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ มายาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งยังคาดเดาไม่ได้ว่าสหรัฐฯ จะใช้วิธีการใดมาบีบบังคับให้จีนต้องยอมเพิ่มค่าเงินหยวน
ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างมากจนกระทั่งคนที่ถือเงินเยนอยู่เกิดอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ ซึ่งถือเป็นความไม่ปกติของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังมองไม่ออกกันเลยว่าทฤษฎีสมคบคิดของเฟดฯ กับ BOJ จะนำไปสู่อะไร
วิษณุ โชลิตกุล