น้ำมันถูกสไตล์รมต.พีระพันธุ์

ดูเหมือนพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคจะเป็นรัฐมนตรีพลังงานเพียงคนเดียวที่มุ่งมั่นจะแก้ปัญหาน้ำมันราคาแพง โดยข้าราชการทั้งกระทรวงโดยเฉพาะระดับปลัดกระทรวง-อธิบดี ก็มิได้แสดงปฏิกิริยาสนองหรือคัดค้านแต่ประการใด


ดูเหมือนพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคจะเป็นรัฐมนตรีพลังงานเพียงคนเดียวที่มุ่งมั่นจะแก้ปัญหาน้ำมันราคาแพง โดยข้าราชการทั้งกระทรวงโดยเฉพาะระดับปลัดกระทรวง-อธิบดี ก็มิได้แสดงปฏิกิริยาสนองหรือคัดค้านแต่ประการใด

ความมุ่งมั่นของรัฐมนตรีพลังงาน ออกจะโดดเดี่ยวอยู่สักหน่อยจากฝ่ายข้าราชการประจำหรือบริษัทรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแล

แต่ในโลกของโซเชียลมีเดียที่มีการแชร์คำพูดและบทสัมภาษณ์รมต.พีระพันธุ์แล้ว เขาคือวีรบุรุษพลังงานที่จะเข้ามาลดราคาน้ำมันและลดค่าไฟ ดับความทุกข์ร้อนของประชาชน

คำพูดรัฐมนตรีดูทรงพลัง เช่น กฎกติการัฐต้องไม่เป็นอุปสรรคให้ประชาชนหาน้ำมันราคาถูกมาใช้เองได้

“สำหรับผมแล้ว ไม่ใช่แค่ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน แต่ต้องปรับทั้งระบบ”

หรือพูดถึงการปรับราคาน้ำมันว่า “ทีมาม่าจะขึ้นราคา ยังต้องไปขออนุญาตรัฐ แต่น้ำมันขึ้นราคา ไม่เห็นใครมาขออนุญาตรัฐเลย รัฐกำหนดอะไรไม่ได้เลย กิจการพลังงานไปขึ้นกับผู้ประกอบการหมด”

ผู้ประกอบการที่รัฐมนตรีกล่าวถึง รายใหญ่ก็หนีไม่พ้นปตท. ซึ่งแม้จะเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียน แต่ก็ยังมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ไม่ตอบสนองนโยบายรื้อระบบและลดราคาน้ำมันของรมต.พีระพันธุ์เสียแล้วหรือไร

เร็ว ๆ วันนี้ คงได้เห็นการแก้ปัญหาสหพันธ์รถบรรทุกของรมต.พีระพันธุ์ โดยรัฐเปิดโอกาสให้สหพันธ์ฯ นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปราคาถูกเข้ามาได้ นับเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง

ปัญหาแรกเลยก็คือ สหพันธ์ฯ รถบรรทุก จะต้องขออนุญาตเป็นผู้ค้ามาตรา 7 ตามพ.ร.บ.การค้าน้ำมันหรือไม่

ถ้าไม่ต้องขอก็จะเกิดความลักลั่นไม่เสมอภาคกับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 รายอื่น ซึ่งมีอยู่กว่า 300 บริษัท และจะกลายเป็นกลุ่มผู้ค้าน้ำมันอภิสิทธิ์ไป

แต่ถ้าต้องยื่นขอเป็นผู้ค้ามาตรา 7 นี่ก็เรื่องใหญ่อีกเหมือนกัน เพราะต้องมีเงื่อนไขปฏิบัติ เช่น จะต้องจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดหรือรวมทุกชนิดปีละประมาณ 120 ล้านลิตรขึ้นไป

ต้องมีคลังสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ต่ำกว่า 1% หรือเท่ากับปริมาณน้ำมันสำรอง 3 วันครึ่งของการจำหน่ายด้วย น้ำมันจำหน่ายก็ต้องเป็นมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งคุณภาพสูงและแพงกว่าน้ำมันทั่วไป

นอกจากนั้น ยังจะต้องเดินตามโครงสร้างราคาที่รัฐกำหนด อาทิการจ่ายภาษี ซึ่งภาษีตัวใหญ่ที่สุดก็คือภาษีสรรพสามิต ค่าธรรมเนียมกองทุนต่าง ๆ การจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน

ส่วนค่าการตลาดซึ่งเป็นรายได้แบ่งกันระหว่างบริษัทน้ำมันกับปั๊มเฉลี่ยในราว 2 บาทกว่า/ลิตร อาจจะยกเว้น ไม่นับรวม แต่ก็น่าคิดว่า สหพันธ์รถบรรทุกหรืออาจจะเป็นกลุ่มอาชีพอื่น จะสามารถบริหารค่าการตลาดตรงนี้ได้ต่ำกว่าค่าการตลาดในปัจจุบันหรือไม่

มันไม่ง่ายเลยนะครับ ที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบัน เพื่อขย่มราคาน้ำมันให้ต่ำลงตามใจปรารถนา ยกตัวอย่างโครงสร้างราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 และน้ำมันดีเซล B7 ที่นิยมใช้กันมาก

E10, มีราคาหน้าโรงกลั่นแค่ 22.6854 บาท/ลิตรหรือ 59.46% ของราคาจำหน่ายปลีก 38.45 บาทนั้น แค่ภาษีสรรพสามิตก็โดนไป 5.85 บาทแล้ว กองทุนน้ำมันก็โดนชักต๋งไป 3.40 บาท เพื่อเอาไปช่วยพยุงราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม

ส่วนดีเซล บี7 ราคาหน้าโรงกลั่นแค่ 24.3265 บาทหรือ 73.85 ของราคาจำหน่ายปลีก 32.94 บาทเอง ก็ยังโดนภาษีสรรพสามิต 5.99 บาท แต่รับการสนับสนุนจากกองทุนน้ำมัน 2.02 บาท เพื่อตรึงราคาดีเซลอันเป็นปัญหาการเมือง

สำหรับก๊าซหุงต้ม LPG ซึ่งมีราคาหน้าโรงแยก 22.9439 บาท/กก.ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันโดยตรงจึงตรึงราคาไว้ที่ 25.87 บาท/กก.ได้

ข้อเท็จจริงเรื่องโครงสร้างและระบบราคาน้ำมันเป็นเช่นนี้ ความยึดโยงระหว่างกันก็เป็นเช่นนี้ รมต.พีระพันธุ์จะบริหารราคาพลังงานให้เหมือนกับบริหารบะหมี่มาม่าได้อย่างไร

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button