‘ภัยแล้ง’ ถ่วงการเติบโตอินเดีย.!
ต้นปี 2567 “รัฐบาลอินเดีย” ประกาศแผนงบประมาณปี 2024 พร้อมปักหมุดหมายภายในปี 2030 จะสร้างเศรษฐกิจอินเดียให้มีขนาด 7,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ต้นปี 2567 “รัฐบาลอินเดีย” ประกาศแผนงบประมาณ ค.ศ. 2024 พร้อมปักหมุดหมายภายใน ค.ศ. 2030 (อีก 6 ปีข้างหน้า) จะสร้างเศรษฐกิจอินเดียให้มีขนาด 7,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 254 ล้านล้านบาท) ทำให้ก้าวขึ้นเป็นประเทศ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอมริกา และจีน
นั่นจึงทำให้ “อินเดีย” ถูกจับตามองถึงโอกาสที่จะมีการพัฒนาสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจ มีความเป็นไปได้สูง ด้วยความเป็นประเทศประวัติศาสตร์อันยาวนาน อาณาเขตของประเทศกว้างใหญ่ มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ที่สำคัญมีบุคลากรนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มากพอจะพัฒนาประเทศก้าวไปสู่ยุคใหม่
แต่ทว่า “ปัญหาภัยแล้ง” กำลังกัดกร่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
ล่าสุด Moody’s Ratings (มูดีส์) ระบุว่า สถานการณ์ภัยแล้งอย่างรุนแรงของอินเดีย อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของประเทศ มีการเตือนว่า “วิกฤตน้ำ” อาจนำไปสู่ความไม่สงบในสังคม หากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีอันหยุดชะงักลง
การพัฒนาอุตสาหกรรม และการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในอินเดีย
จากสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) คลื่นความร้อน และความแห้งแล้ง ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งเลวร้ายลง และส่งผลให้อินเดีย หนึ่งในประเทศที่มีประชากรมากสุดในโลก ตกอยู่ในจุดอันตราย..!?
“มูดีส์” ระบุว่า การขาดแคลนน้ำ อาจส่งผลต่อการจัดอันดับเครดิตของประเทศได้..
ปัจจุบัน “มูดีส์” ประเมินอันดับความน่าเชื่อถืออินเดีย เป็น “Stable” หรือ “มีเสถียรภาพ” ระดับเครดิต Baa3
ทั้งนี้ “อินเดีย” เป็นประเทศที่อาศัยฝนมรสุมสำหรับการจัดหาน้ำ แต่มีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่รุนแรง และแปรปรวนเช่นกัน
โดยปีนี้ “กรุงเดลี” หนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นสุดในโลก ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 200 ล้านคน กำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างหนัก
“อาตีชี” รัฐมนตรีกระทรวงน้ำฯ ระบุว่า “มีผู้คน 2.8 ล้านคนในเมืองนี้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานเพียงเพราะขาดน้ำ”
ทั้งนี้ “มูดีส์” ระบุอีกว่า การขาดแคลนน้ำ อาจขัดขวางการผลิตทางการเกษตรและการดำเนินงานทางอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในราคาอาหาร และรายได้ที่ลดลงสำหรับธุรกิจและคนงานที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม..!!
อย่างไรก็ดีวิกฤตดังกล่าว จุดประกายความไม่สงบในสังคม โดยภัยแล้งนี้อาจทำให้ความผันผวนในการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียรุนแรงขึ้น และบ่อนทำลายความสามารถของเศรษฐกิจ โดยแรงงานมากกว่า 40% ของประเทศ ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม
ทั้งนี้ “อินเดีย” เป็นประเทศที่เน้นอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหลัก ในฐานะเป็นผู้ผลิตนมและเครื่องเทศรายใหญ่สุดของโลก และเป็นผู้ผลิตข้าว ข้าวสาลี ผัก ผลไม้ และฝ้ายรายใหญ่ เป็นอันดับ 2 ของโลก
ที่สำคัญ “เกษตรกรรม” ในประเทศอินเดีย จำเป็นต้องใช้น้ำมากถึง 90%
โดยแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จะทำให้อุปทานน้ำตาลตึงตัว ส่งผลให้ราคาน้ำตาล ในรัฐมหาราษฏระและกรณาฏกะ มีโอกาสปรับขึ้นสูงสุดรอบ 6 ปี
และนี่คือ “ตัวถ่วงและอุปสรรคสำคัญ” ของอินเดีย..กับการก้าวขึ้นสู่อันดับ 3 ของเศรษฐกิจโลก..!!