ความเงียบที่ดาวอสพลวัต 2016
การประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส เชิงเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์ ปีนี้ สะท้อนอารมณ์ของบรรดาชนชั้นนำทางปัญญาและอิทธิพลของโลก ในยามนี้ได้ดียิ่ง
วิษณุ โชลิตกุล
การประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส เชิงเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์ ปีนี้ สะท้อนอารมณ์ของบรรดาชนชั้นนำทางปัญญาและอิทธิพลของโลก ในยามนี้ได้ดียิ่ง
ในช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นจังหวะขาขึ้น ทุกคนที่มาในงาน ถือเป็นเสมือนหนึ่งงานเลี้ยงใหญ่เปิดเผยอัตตาของตนเอง เพราะทุกคนอยากพูดถึงความสำเร็จของตนในฐานะกรณีศึกษา แต่ปีนี้แตกต่างออกไป คนส่วนใหญ่ทุกคนอยากฟังมากกว่าพูด
แม้กระทั่งคนที่ถูกกำหนดให้พูดก็ใช้เวลาสั้นลง พูดเท่าที่ประเด็นกำหนดไว้ ไม่เกินเลย
บรรยากาศแบบนี้ สะท้อนถึงภูมิปัญญาที่ตีบตันของผู้นำระดับโลก ที่ยังคิดไม่ออกถึง “สูตรแห่งชัยชนะ” สำหรับอนาคต ตนเอง องค์กรที่สังกัด และประเทศ หรือกระทั่งภาพรวมทั้งโลก
การประชุมปีนี้ นับเป็นปีที่ 45 แล้ว หลังจากครั้งแรกจัดขึ้นในปี ค.ศ. 1971 โดยศาสตราจารย์ด้านการบริการธุรกิจ เคล้าส์ ชว็อป แห่งมหาวิทยาลัยเจนีวา ริเริ่มขึ้นมา ภายใต้แนวคิดว่า ผู้นำเศรษฐกิจการเมืองทุกวงการในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่เป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” ในกิจกรรมด้านการบริหารระดับโลก จึงต้องการให้การประชุมเป็นที่แลกเปลี่ยนความเห็นกันที่ไม่จำเป็นต้องไปทิศทางเดียวกัน
การประชุมประจำปี ที่เมืองดาวอส เป็นบทสรุปของการประชุมย่อยปีละ 7 ครั้งก่อนหน้านั้นในภูมิภาคต่างๆ เพื่อที่จะรวบรวมผลงานวิจัยเชิงลึกและกว้างจากทุกหนแห่งมาประมวลนำเสนอเข้าด้วยกัน แล้วลงเอยด้วยการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ เพื่อจัดลำดับ และนำไปปรับปรุงกันต่อไป
ข้อมูลในเอกสารเผยแพร่ของ WEF ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและถูกนำไปใช้อ้างอิงเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนากลไกขับเคลื่อนการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ปีนี้ แม้หัวข้อหลักของการประชุมคือ การนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่างๆ จะมีบทบาทเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไรบ้าง แต่เจตนาของหัวข้อดังกล่าวถูกลดทอนโดยผู้เข้ามาร่วมในการประชุม เพราะสิ่งที่พวกเขาหมกมุ่นยามนี้คือ ต้องการหาทางออกในเรื่องของราคาน้ำมัน และโจทย์ซับซ้อนของเศรษฐกิจจีน ซึ่งทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกแปรปรวนรุนแรงมากอย่างผิดธรรมชาติ
ในเรื่องราคาน้ำมัน โจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งคือ ปัญหาและทางออกของราคาน้ำมันอยู่ตรงไหนกันแน่ ในด้านปัญหานั้น จนถึงวันนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า การใช้น้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นต่ำกว่าปริมาณที่ดูดขึ้นมาทั่วโลก เกิดจากสาเหตุของ 1)ภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ถดถอยลงตามวงจรเศรษฐกิจปกติ 2)การเพิ่มขึ้นของพลังงานทดแทนทั้งหลายที่นับวันจะเติบโตรวดเร็วในสัดส่วนของกำลังการผลิตรวมทั้งโลก
หากเป็นอย่างแรก ก็สามารถคาดเดาได้ว่า ดุลยภาพของตลาดน้ำมันตามปกติ จะเกิดขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ และราคาน้ำมันจะกลับมาอยู่ที่ระดับ 52 ดอลลาร์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เช่นกัน ไม่มีอะไรใหม่
หากเกิดจากอย่างหลัง แสดงว่าน้ำมันตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการใช้พลังงานของโลกครั้งใหญ่ในรอบ 150 ปี ก็อย่าได้หวังเลยว่า ราคาน้ำมันจะกลับคืนมาสู่ “ระดับปกติ” เพราะเกิดการปฏิวัติทางการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานใหม่ แทนที่น้ำมันด้วยเทคโนโลยีที่สะอาดกว่า และหาได้ง่ายกว่าเช่นกัน
ตราบใดที่ยังไม่มีคำตอบเรื่องนี้ชัดเจน ความผันผวนของราคาน้ำมันจะยังเกิดขึ้นเป็นวงจรอุบาทว์ไปเช่นนี้อีกยาวนานพอสมควร
ในเรื่องของจีน แม้จะมีข้อมูลที่บ่งชี้ชัดว่า การชะลอตัวของการเติบโตเศรษฐกิจจีน ไม่ใช่การฮาร์ดแลนดิ้งหรือเศรษฐกิจพังทลายแน่นอน เพราะอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ยังคงเหนือกว่าชาติอื่นๆ อย่างมาก ในช่วงเวลาที่จีนจะต้องถ่วงดุลอย่างรอบคอบในแต่ละก้าวย่าง เพื่อทำให้อัตราการเติบโตยังคงอยู่ในระดับเดิมต่อเนื่อง และปรับโครงสร้างจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตและการลงทุน ไปสู่การบริโภคและบริการมากยิ่งขึ้น
ข่าวดีที่เห็นได้ชัดจากจีนยามนี้คือ การที่สัดส่วนรายได้จากภาคบริการของจีนในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้แซงหน้าขึ้นมีสัดส่วนเกิน 50% ของจีดีพีโดยรวมไปแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการเปลี่ยนโครงสร้างของพลังขับเคลื่อนการเติบโตจีนจะราบรื่นง่ายดาย
การเปลี่ยนแปลงที่น่าเป็นห่วงคือ ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีนที่ลดลงอย่างรวดเร็วจากการที่รัฐบาลจีนนำเงินมาแทรกแซงกลไกเศรษฐกิจ และป้องกันการไหลออกของทุนจากจีนอย่างรุนแรง ทั้งจากปัญหาแคร์รี่เทรดย้อนศรขององค์กรธุรกิจและรัฐวิสาหกิจจีน หรือการที่ต่างชาตินำทุนออกเพราะตลาดหุ้นจีนมีราคาหุ้นสูงเกินจริงจากการแทรกแซงตลาด
ค่าเงินหยวนที่อ่อนลงรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดของหน่วยงานธนาคารกลางจีน แต่อีกส่วนหนึ่ง เงินทุนต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนในจีน เหือดหายไปจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจภายในของจีนเอง
การอ่อนตัวของค่าเงินหยวน ผสมเข้ากับการไหลออกของทุนปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐทำให้แม้ว่าทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีนจะยังคงแข็งแกร่งกว่า 32.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ห่างไกลจากจุดวิกฤตอย่างมาก แต่ก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่อาจจะมีปัญหาได้ในอนาคต เพราะระดับของทุนสำรองเงินตราเทียบกับการนำเข้าสินค้าแล้ว ค่อนข้างต่ำกว่าชาติในอาเซียนหลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วย
จริงอยู่ จีนอาจจะยังคงมีสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งท่ามกลางปัญหาสารพัดที่เรียกกันว่า “ไตรภาคีของความเป็นไปไม่ได้” แต่ชาติคู่ค้าของจีนที่เป็นทั้งชาติผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หรือสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่ง “ตกเป็นตัวประกัน” กลับได้รับผลกระทบที่รุนแรงอย่างมากถ้วนหน้าหลายด้าน บางประเทศถูกสินค้าจีนที่เร่งระบายสต๊อกในประเทศเข้าไปทุ่มตลาดอย่างหนัก จนกระทั่งอุตสาหกรรมหลายแห่งขาดทุนมหาศาล บางประเทศที่เป็นซัพพลายเออร์ไม่สามารถขายสินค้าได้สักเท่าใด บางประเทศถูกการค้าที่ชะลอตัวลงทำให้ขาดสภาพคล่อง
ทั้งสองปัญหานี้ ทำให้ความเงียบที่เมืองดาวอสในปีนี้ เป็นสถานการณ์ผิดปกติอย่างมากทีเดียว