เกลียดตัว กินไข่แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

มีคำถามว่า บลจ. ผู้บริหารกองทุนรวมทั้งหลายต้องการอะไร สำหรับการเดินหน้าร่วมกันใช้ยุทธการ “สหบาทา” ในการสร้างเงื่อนไขให้ กรรมการบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน ) หรือ CPALL ซึ่งพวกเขามองเห็นว่ามีปัญหาธรรมาภิบาลของผู้บริหารที่ใช้ข้อมูลภายใน หรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง พร้อมกับคำขู่ (จะเรียกว่าเตือน ก็ได้ ความหมายทำนองเดียวกัน แต่น้ำหนักอาจจะต่างกัน) ว่า หากไม่ดำเนินการใดๆ จะ “ทยอยลดพอร์ต”


มีคำถามว่า บลจ. ผู้บริหารกองทุนรวมทั้งหลายต้องการอะไร สำหรับการเดินหน้าร่วมกันใช้ยุทธการ  “สหบาทา” ในการสร้างเงื่อนไขให้ กรรมการบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน ) หรือ CPALL ซึ่งพวกเขามองเห็นว่ามีปัญหาธรรมาภิบาลของผู้บริหารที่ใช้ข้อมูลภายใน หรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง พร้อมกับคำขู่ (จะเรียกว่าเตือน ก็ได้ ความหมายทำนองเดียวกัน แต่น้ำหนักอาจจะต่างกัน) ว่า หากไม่ดำเนินการใดๆ จะ “ทยอยลดพอร์ต”

ความไม่ชัดเจนเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เกิดสมมติฐาน ถึงความเป็นไปได้ 2 ทาง ระหว่าง 1) ต้องการให้ผู้บริหาร 3 คน ของ CPALL ออกจากการเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารบริษัท เพื่อจะทำให้ CPALL มีธรรมาภิบาล 2) ออกโรงขับเคลื่อนเพื่อทุบราคาหุ้นของ CPALL เพื่อให้ใครบางคนทำการช้อนซื้อหุ้นในระหว่างที่ฝุ่นยังตลบ โดยไม่ต้องการจะทิ้งหุ้นหรือลดพอร์ตจริง

ความไม่ชัดเจนเรื่องนี้ ต้องไขปริศนากันมากพอสมควร

อย่างที่ทราบกันดี นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ นายพิทยา เจียรวิสิ ฐกุล และนายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รวมทั้งนายอธึก อัศวานนท์ กรรมการเครือซีพี ได้ยอมรับผิดต่อข้อกล่าวหาของ ก.ล.ต. ในข้อหาใช้ข้อมูลวงในซื้อขายหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO  เป็นเงินจำนวนหนึ่งตามฐานานุโทษ เมื่อเดือนธันวาคม

เรื่องนี้ แม้นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. จะออกมายืนยันว่า ในส่วนของก.ล.ต.ถือว่าสิ้นสุดแล้ว เพราะเป็นความผิดเฉพาะบุคคล ไม่เกี่ยวกับบริษัท ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการและผู้ถือหุ้นที่จะพิจารณากันเอง….ก.ล.ต.ไม่เกี่ยว

เรื่องที่ ก.ล.ต. บอกว่าจบ กลับจบไม่ลง เพราะ มีคนคับข้องใจ เริ่มตั้งแต่ นาง วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง จํากัด ที่นั่งควบตำแหน่ง นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ได้จุดประกายขยายความใน 3 ประเด็นคือ

-ได้หารือร่วมกับผู้จัดการกองทุนหลายบริษัท เช่น  กรุงศรี กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และ เอ็มเอฟซี เห็นร่วมกัน ว่า จะติดตามดูว่าคณะกรรมการของบริษัทแห่งนั้นจะตอบสนองกับเหตุการณ์นี้อย่างไร

 -บลจ.บัวหลวง ไม่ได้ลงทุนหุ้นดังกล่าวใน กองทุนรวมสิริผลบรรษัทภิบาล และกองทุนรวมคนไทยใจดี ตั้งแต่แรก แต่ลงทุนในกองทุนอื่นๆ ซึ่งต้องหารือกับผู้จัดการกองทุนอีกครั้ง

-คณะกรรมการของบริษัทแห่งนั้น ต้องดำเนินการในสิ่งที่ควรกระทำ หากไม่มีการดำเนินการอันเป็นที่ยอมรับได้ ผู้ลงทุนสถาบันทั้งหลาย “คงต้องดำเนินการตามที่เห็นว่าเหมาะสม”

เรื่องดังกล่าว ทางด้าน CPALL ก็มีการเรียกประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ วาระพิเศษ โดยมีกรรมการอิสระร่วมด้วย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558  และมีข้อสรุปประเภท “ถูกต้อง แต่ไม่ถูกใจ” ว่า  “…ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงการลงโทษของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ตลอดจนพฤติกรรมและผลงานในอดีต รวมทั้งคุณสมบัติและประสบการณ์อันโดดเด่นของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งหาทดแทนได้ยาก โดยเปรียบเทียบกับผลกระทบและผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับ และความเชื่อมั่น ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก คณะกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระจึงลงความเห็นว่า ยังสมควรที่จะให้บุคคลเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้…”

พร้อมกันนั้น CPALL ก็แจ้งว่า คณะกรรมการ ได้มีมติ 3 ข้อ ในการตั้ง 1) คณะกรรมการบรรษัทภิบาล 2) ตั้งผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านบรรษัทภิบาลจากภายนอก เพื่อทบทวนจุดอ่อนในโครงสร้างและกระบวนการด้านบรรษัทภิบาล 3)  กำหนดให้จัดการอบรมที่มีเนื้อหาครอบคลุมอย่างสมํ่าเสมอแก่กรรมการและผู้บริหารของบริษัท

 เรื่องทำท่าเงียบไปหลายสัปดาห์ โดยที่ราคาหุ้น CPALL ก็ยืนต่ำเตี้ยที่ระดับ 41-42 บาท เหวี่ยงตัวในกรอบแคบๆ ขึ้นไม่ได้ ลงก็ไม่เป็น…เพราใครๆ ก็รู้ว่า หุ้นตัวนี้ โตต่อเนื่องทุกสถานการณ์ พื้นฐานดีเยี่ยม ราคาที่ร่วงมาหลังเป็นข่าวฉาวจากระดับ 50 บาท เกือบ 20% ถือว่ามากเกินสมควร

แล้วก็มีตัวเสี้ยมโผล่เข้ามา  เมื่อ “ไอ้โม่ง” โพสต์ข้อมูลเผยแพร่บนสื่อออนไลน์ ระบุว่า กองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารของ บลจ.บัวหลวง มีทั้งหมด 5 กองทุน ที่ถือหุ้น CPALL อยู่ เช่น บัวหลวงหุ้นระยะยาว (B-LTF), บัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 (BLTF75), บัวหลวงเฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ (BFLRMF), บัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (BERMF) และ บัวหลวงทศพล (BTP) ต่างมีสัดส่วนการถือครองหุ้น CPALL เพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2558 โดยบางกองทุนมีการถือหุ้นเพิ่มจากเดิม 1 ล้านหุ้น และบางกองทุน ถือเพิ่ม 5-6 ล้านหุ้น

ข้อความอย่างนี้ เข้าข่าย “เจาะยาง” กันตรงๆ ทำให้นายกสมาคม AIMC ถึงขั้นปรี๊ดแตก ออกมาตอบโต้ทันควันว่า 1.ไม่เคยซื้อหุ้น CPALL เพิ่มเลย 2.กำลังให้ตรวจสอบที่มาที่ไป เพราะจำนวนหุ้นที่เผยแพร่ ยังมีส่วนไม่ถูกต้อง

เรื่องนี้ ท่านนายกสมาคมฯ ไม่ได้มาคนเดียว เพราะเครือข่าย AIMC ดาหน้ากันสลอนมาขานรับ นับแต่ นายธีรนารถ รุจิเมธาภาส จาก บลจ.ทิสโก้ นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ แห่ง บลจ.วรรณ และ นางสุภาพร ลีนะบรรจง แห่ง บลจ.กรุงศรี ก็ออกมาย้ำอีกว่า แต่ละแห่งได้ลดพอร์ต CPALL ลงไปเกือบหมดแล้ว เหลือไว้เพียงแค่เล็กน้อย…เพราะ  “เห็นว่าเป็นหุ้นมาร์เก็ตแคปใหญ่ ต้องมีไว้ในพอร์ตบ้าง ”

คำถามคือ ถือหุ้นที่มีปัญหาไว้ทำไม…หรือว่า เกลียดตัว กินไข่

นายธีรนารถเองก็พูดแปลกๆ ทะแม่งหูว่า “การทยอยขายหุ้นดังกล่าว ขึ้นอยู่กับฝ่ายที่ดูแล ว่า เวลาใดที่เหมาะสมจะขายหุ้นออกมา เพราะต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย หากซื้อหุ้นมาในราคาที่สูงกว่าราคาในขณะนี้ก็อาจต้องรอก่อน”

ส่วนนายวิน ก็บอกแค่ว่า ไม่ได้ซื้อหุ้นเพิ่มหลังมีเรื่อง แต่การขายนั้น จะทำเมื่อ  “…ยกเว้นว่าราคาหุ้น CPALL จะขึ้นมาสูง ในระดับที่ได้กำไรดี…”

พูดสอดรับอย่างนี้ ขัดแย้งอย่างยิ่งกับนางสุภาพร ที่ออกมาย้ำชัดเจนว่า จะทยอยลดน้ำหนักการลงทุน  CPALL ลงอีก เพราะ “…การเลือกลงทุนนั้น ไม่ได้ดูเพียงผลตอบแทนหรือกำไรเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลด้วย”

ตกลงว่าจะเอายังไงกันแน่ อันไหนสำคัญกว่ากันระหว่างกำไร กับธรรมาภิบาล  หรือว่าสำคัญเท่ากันทั้งสองอย่าง…อิ อิ อิ

 

Back to top button