พาราสาวะถี
ช่วยเข้าใจตรงกันนะ อิทธิพร บุญประคอง บอกกับนักข่าวที่ยังไม่ประกาศรับรองรายชื่อว่าที่ สว. 200 คน ไม่ใช่การเลื่อน แต่เป็นการรอกระบวนการตรวจสอบ
ช่วยเข้าใจตรงกันนะ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.บอกกับนักข่าวที่ยังไม่ประกาศรับรองรายชื่อว่าที่ สว. 200 คน ในวันที่ 3 กรกฎาคมนั้น ไม่ใช่การเลื่อน แต่เป็นการรอกระบวนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เมื่อเสร็จแล้วก็รับรองไม่มีปัญหา โดย กกต.ยึดหลัก สุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่กฎหมายบอกว่าหลังเลือกแล้วให้รอไว้ 5 วันนั้น เป็นการรอว่าจะมีใครร้องหรือไม่ เมื่อครบกำหนดแล้วไม่ได้หมายความว่าจะต้องประกาศรับรองทันที
ไม่ได้มีอะไรเหนือความคาดหมาย เมื่อคนสมัครมากกว่าคนที่ได้รับเลือกหลายเท่าตัว ประกอบกับกระบวนการบริหารจัดการของ กกต.ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกในระดับประเทศ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งทำครั้งแรก ย่อมมีอาการติดขัด เกิดข้อกังขา จึงเป็นธรรมดาที่จะมีการยื่นร้องเรียนจำนวนมาก ทั้งผ่าน กกต.และไปที่ศาลปกครอง บอกแล้วว่ายังไงก็ต้องช้า กว่าผู้ผ่านการเลือกจะได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ มีเพียงแค่ว่าการทำงานของ กกต.จะช้าแบบปกติทั่วไป หรือช้ามากเท่านั้นเอง
ที่เป็นปัญหาอีกเรื่องคือ ตำแหน่งนายก อบจ.ปทุมธานี แม้ว่า ชาญ พวงเพ็ชร์ จะชนะเลือกตั้ง และคู่แข่งอย่าง “บิ๊กแจ๊ส” พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ก็ประกาศแล้วว่าจะไม่ร้องเรียนใด ๆ จึงทำให้การตรวจสอบเพื่อรับรองผลของ กกต.ไม่น่ามีปัญหา แต่กลับเป็นว่าต้องมายุ่งกับการตีความข้อกฎหมายที่ว่าด้วยประเด็นเมื่อ กกต.รับรองผลไปแล้ว ลุงชาญจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ เนื่องจากมีคดีค้างอยู่จากปมที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อถุงยังชีพเมื่อปี 2555 และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 จังหวัดปทุมธานี มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดี
กรณีนี้ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ฟันธงว่า ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที โดยยกเอาคำวินิจฉัยของกฤษฎีกายืนยันว่า ถ้าเกิดถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เนื่องจาก ป.ป.ช.มีคำสั่งชี้มูล ถึงแม้ระหว่างนั้นพ้นตำแหน่งไปแล้วและถูกเลือกตั้งให้กลับเข้ามาใหม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการยุ่งเหยิงกับกรณีที่ผ่านมาหากเข้าไปดำรงตำแหน่งใหม่ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้น เรื่องนี้ไม่มีอะไร เป็นหลักกฎหมายปกติ
อย่างไรก็ตาม มีการออกตัวด้วยว่า หากมีความเห็นต่างไม่ยอมปฏิบัติตามความเห็นกฤษฎีกา ปกรณ์ก็ชี้ว่าผู้ที่ชี้ขาดคือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่ง หรือดำรงตำแหน่ง และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่น ดังนั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะมีคำสั่งในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป สอดคล้องกับความเห็นของ นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.ที่มองว่า ในทางปฏิบัติ ป.ป.ช.จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบว่าในเรื่องนี้ได้มีการชี้มูลความผิดและศาลประทับรับฟ้องไว้แล้ว
กรณีที่มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว หรือพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้วกลับมาปฏิบัติหน้าที่อีก คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาจากการหารือของกระทรวงมหาดไทยก็มีเป็นแนวทางอยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยจะต้องไปพิจารณา เลขาฯ ป.ป.ช.โยนให้ทางมหาดไทยเป็นผู้ชี้ขาด แต่ อนุทิน ชาญวีรกูล มท.1 กลับเห็นว่า เรื่องพวกนี้ต้องเป็นคำสั่งของศาล เพราะหากมีความเห็นแย้งอะไรต้องให้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่ง และเป็นไปตามนั้น ต้องทำตามกฎหมาย
โดยที่เสี่ยหนูชี้ว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่น่าจะสั่งอะไร พร้อมกับออกตัวแรงด้วยว่า เรื่องนี้อย่าให้เกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทยเลย “แค่นี้ก็ปวดหัวตายอยู่แล้ว” ขณะที่ ภูมิธรรม เวชยชัย มองไปในแนวทางเดียวกันว่า ความเห็นกฤษฎีกาที่บอกว่าต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ เป็นความคิดเห็นทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ ชาญจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ต้องให้ศาลเป็นผู้สั่ง ไม่ใช่เป็นไปตามอัตโนมัติตามที่กังวลใจกัน
เสี่ยอ้วนในฐานะผู้จัดการรัฐบาลยังบอกด้วยว่า ตอนนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ว่าที่นายก อบจ.ปทุมธานียังมีสิทธิ์ เนื่องจากตอนสมัครชิงตำแหน่งไม่ได้ขาดคุณสมบัติอะไร ดังนั้น เรื่องนี้ต้องปล่อยให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย และปัจจุบันก็ไม่มีข้อบังคับใดมาห้าม การที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลและศาลประทับรับฟ้อง ก็เป็นไปตามกระบวนการ และตามขั้นตอนก็ให้สิทธิ์ผู้ถูกดำเนินคดีมีสิทธิ์ต่อสู้ เรื่องนี้ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยวิเคราะห์และตัดสินเอง แต่ทางกฎหมายเป็นแบบนั้น
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการสะกิดเตือนบรรดานักวิจารณ์ทั้งหลายด้วยว่า ไม่ทราบว่าศาลจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เรื่องนี้เป็นการจินตนาการ ต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ก่อน ปัญหาตอนนี้คือคนจินตนาการไปก่อน ก่อนที่ศาลจะพิจารณาเสร็จ เมื่อดุลพินิจเห็นเป็นอย่างไรค่อยดำเนินการตามนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ที่หลังเลือกตั้งแล้วจะมีการวิจารณ์ ไม่ต้องไปโทษใคร หรือคิดว่าใครมากลั่นแกล้ง เพราะถ้ายึดกฎหมายยึดกระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถทำอะไรได้
เรียกได้ว่า ประเด็นข้อกฎหมายยังคงมีให้ต้องได้ลุ้นกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับนักเลือกตั้ง หรือการเมืองระดับใดก็ตาม แต่กรณีนี้คงไม่มีอะไรซับซ้อน อยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าลุงชาญว่าที่นายก อบจ.ปทุมธานีจะได้ทำหน้าที่หรือไม่ ถ้ามีการประกาศรับรองผลไปแล้ว สุดท้าย ยังไงก็ต้องจบที่ศาลเพราะคดีอยู่ในกระบวนการพิจารณา ส่วนคดียุบพรรคก้าวไกลจากที่คิดว่าไม่มีอะไรซับซ้อน น่าจะปิดเกมเร็ว ส่อว่าจะยืดและได้ลุ้นกันยาว ๆ
หลังจากที่วานนี้ (3 กรกฎาคม) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคดีดังกล่าวโดยการอภิปรายแล้ว เห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้รอฟังผลการตรวจพยานหลักฐานของคู่กรณีในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ พร้อมกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 17 กรกฎาคม การยืดเยื้อออกไปจึงทำให้มีการมองไปถึงสถานการณ์ทางการเมือง หรือว่าก้าวไกลจะรอด หากเป็นเช่นนั้นย่อมทำให้ประเด็นที่เปิดกันมาว่าจะมีการพลิกขั้วรัฐบาลอีกรอบจะเป็นจริง แม้โอกาสจะน้อยมากก็ตาม
อรชุน