ฝันกลางวันของประเทศไทย
และแล้วมรดกที่นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสมัยนายกฯ เศรษฐา ทวีสินยุคแรกทิ้งไว้ได้ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง
และแล้วมรดกที่นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสมัยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ยุคแรกทิ้งไว้ ได้ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง นั่นคือการที่ประเทศไทยแสดงความสนใจที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศ OECD (The Organization for Economic Co-operation and Development) พร้อมกับการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศ BRICS ในขณะที่มีข่าวว่าทั้งสองกลุ่มก็มีความสนใจให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก
กลุ่มประเทศ OECD คือกลุ่มประเทศร่ำรวยที่มีสมาชิก 38 ประเทศ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศร่ำรวยในแถบยุโรป ในเอเชียมีเพียงเกาหลีใต้และญี่ปุ่น มีขนาดเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 28% ของประเทศทั้งโลก แต่เดิมนั้นได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มประเทศร่ำรวย แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้รับสมาชิกใหม่เช่น คอสตาริกาและโคลอมเบียซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา แสดงให้เห็นถึงการลดระดับมาตรฐานการเป็นสมาชิกของกลุ่มลงมา
ข้อดีของการเป็นสมาชิกประเทศร่ำรวย (OECD) อยู่ที่การยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของชาวโลก แต่ต้นทุนของการเข้าเป็นสมาชิกนี้มีราคาที่ต้องจ่ายมากมาย เช่น รัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้นและจำต้องมีการปฏิรูประบบภาษี การปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ พร้อมกับปฏิรูประบบการผลิตและการอุตสาหกรรมที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานของยุโรป เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับสังคมไทยทั้งสิ้น ประเด็นปัญหาก็มีอยู่เพียงว่ารัฐไทยจะกล้าเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยหันมายอมปฏิบัติตามมาตรฐานของ OECD ที่ตั้งไว้สูงมากหรือไม่ เพราะหากยอมรับมาตรฐานของ OECD การจะแอบอ้างมาตรฐานแบบไทย ๆ คงจะทำได้ไม่ง่ายเหมือนเดิม เช่น การใช้กฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิพลเมืองก็จะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป แต่ที่สำคัญสุดคือการยกกองทัพทำรัฐประหารขับไล่รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะทำไม่ได้อีกเลย และการขจัดการคอร์รัปชันก็เป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายหลัก
สิ่งที่ไม่น่ายินดีก็คือการเปิดตลาดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางธุรกิจที่อาจจะทำให้ธุรกิจท้องถิ่นถูกรุกไล่อย่างง่ายดายมากขึ้น เพราะเคยมีบทเรียนจากยุโรปที่จำต้องปล่อยให้บริษัทข้ามชาติที่มีศักยภาพมากกว่าเข้ามาช่วงชิงตลาดสินค้าและบริการ
การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ดูจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นถ้าไทยจะเข้าเป็นสมาชิกของ OECD
เพียงแต่ถ้ามองจากมุมที่กลับกัน การที่กลุ่มทุนไทยได้เรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการของการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ตลาดที่ใหญ่กว่าเดิมก็น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจภายใต้ระบบทุนนิยมของโลก
อย่างน้อยที่สุดกลุ่มทุนไทยก็เคยมีประสบการณ์จากกระแสโลกาภิวัตน์มาแล้วในระดับหนึ่ง การปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงคงไม่ใช่เรื่องยากเกินแม้ไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม
วิษณุ โชลิตกุล