ยืดสัญญาแลกลดค่าผ่านทาง

มาอีกแล้วล่ะครับ รายการลดค่าผ่านทางแลกกับการยืดอายุสัญญาสัมปทาน ซึ่งครั้งนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้นำเสนอ


มาอีกแล้วล่ะครับ รายการลดค่าผ่านทางแลกกับการยืดอายุสัญญาสัมปทาน ซึ่งครั้งนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้นำเสนอ มันคุ้มค่าหรือไม่คุ้มต่อประโยชน์สุขส่วนรวม น่าลองพิจารณากันดู

คมนาคมเสนอ BEM (บริษัทรับสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้าใต้ดิน) ให้ก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 วงเงินประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท และปรับลดค่าผ่านทางลงมาจาก 75 บาทให้เหลือไม่เกิน 50 บาท

เพื่อแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ให้ BEM ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน

ฟังดูเหมือนดี แต่ไม่คิด-วิเคราะห์-แยกแยะกันให้รอบคอบดอกหรือว่า แค่จะให้เข้ามาสร้างทางด่วน 2 ชั้นช่วงระยะทางสั้น ๆ แค่งามวงศ์วาน-พระราม 9 แต่คุณจะประเคนยืดอายุสัมปทานทางด่วนทั้งขั้นที่ 1 (ดินแดง-ดาวคะนอง) และทางด่วนขั้นที่ 2 (บางโคล่-แจ้งวัฒนะ) ออกไปอีกตั้ง 22 ปี 5 เดือน

สัมปทานทางด่วน 1 และ 2 แทนที่จะมีการส่งมอบกลับคืนสู่รัฐในปี 2578 ก็ต้องยืดออกไปถึงปี 2600 กับอีก 5 เดือนนั่นแหละ 

การอ้างจะให้เอกชนมาลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาทให้ ก็ต้องถามกลับว่ามันมากมายนักหรือ เงินแค่นี้กทพ.ไม่มีปัญญาลงทุนหรือ เห็นใช้จ่ายเงินกันโครม ๆ กับโครงการไร้สาระมากมาย ทำไมไม่คิดจะปลดแอก “สัญญาทาส” กับเอกชนสักที

สูตรยืดสัญญาแลกลดค่าผ่านทางมันมีตำนาน! และตำนานที่เลวร้ายที่สุดในความรู้สึกของประชาชนก็คือตำนานดอนเมืองโทล์ลเวย์ ซึ่งเป็นสัญญาสัมปทาน 25 ปีกับกรมทางหลวง มูลค่าก่อสร้างในขณะนั้นก็ตกในราว 7-8 พันล้านบาทแค่นั้นเอง

เริ่มต้นในปี 2532 อัตราค่าผ่านทางช่วงดินแดง-ดอนเมืองระยะทาง 15.4 กิโลเมตรสำหรับรถ 4 ล้อเพียงแค่ 20 บาทเท่านั้น ต่อมากรมทางหลวงให้ดอนเมืองโทล์ลเวย์ลงทุนขยายเส้นทางไปยังอนุสรณ์สถานอีก 5.7 กม. ค่าผ่านทางก็เพิ่มอีก 15 บาท รวม 35 บาทตลอดเส้นทาง

เอกชนขอปรับราคาตามสัญญา รวมทั้งรัฐเป็นฝ่ายแพ้คดี รัฐก็เจรจาต่อรองด้วยการยืดสัญญาให้มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งปัจจุบันค่าผ่านทางช่วงดอนเมืองเป็น 80 บาท และช่วงดอนเมืองอนุสรณ์สถาน 35 บาท รวมตลอดเส้นทาง 115 บาท สำหรับระยะทางแค่ 21.1 กม.

ข้อเสนอล่าสุด ยังจะปรับเพิ่มอีก ช่วงดอนเมืองเป็น 90 บาท และช่วงอนุสรณ์สถานเป็น 40 บาท รวม 130 บาท นายสุริยะให้ชะลอไว้ก่อน ไม่รู้จะต้องแลกเปลี่ยนด้วยผลประโยชน์อะไรกันอีก

ดอนเมืองโทล์ลเวย์แทนที่จะหมดสัญญา 25 ปีและกลับคืนสู่รัฐในปี 2557 กลับยืดยาวตกในมือเอกชนมาถึงเดี๋ยวนี้ พร้อมกับค่าทางด่วนจาก 20 บาทเป็น 80 บาท และจะกลายเป็น 90 บาทในเร็ววันนี้ 

ผมว่าวิธีการยืดอายุสัมปทานแลกลดอัตราค่าผ่านทางหรือการแพ้คดีความเอกชนมันไม่แฟร์กับประชาชนและรัฐเลยนะ ควรตั้งคำถามตัวโต ๆ ว่าใครได้ประโยชน์?

กรณีทางด่วนยืดอายุสัมปทาน มันไม่ต้องเวนคืนใหม่ ตอกเสาเข็มใหม่ และก่อสร้างใหม่นี่ มีแต่งานบำรุงรักษาเท่านั้น ทำไมไปยกให้เอกชนฟรี ๆ เป็น 20-30 ปี และยอมเซ็นสัญญาทาสให้เขาขึ้นค่าผ่านทางได้เรื่อย ๆ เพื่อจะได้ให้รัฐผิดสัญญาในการไม่อนุมัติค่าผ่านทาง และก็จะยื่นหมูยื่นแมว “ยืดอายุสัมปทาน” กันอีก

นักการเมืองชอบพูดหาเสียงว่า เมื่อเข้ามาแล้ว จะลดค่าโดยสารทางด่วน-รถไฟฟ้าเหลือ 20 บาทได้ทุกสี แต่ความจริงมันทำได้ที่ไหนล่ะ! เพราะเอกชนยังเป็นเจ้าของสัมปทานอยู่ทุกสายทุกเส้นทาง

ยังคงมีอีกหลายกรณีที่รอ “งาบ” กันอยู่ ทั้งทางด่วน-รถไฟฟ้าไม่มีวันหลุดพ้นสัญญาทาสและกลับคืนมาเป็นสมบัติรัฐได้หรอก

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button