ตลาดที่ผิดปกติ

การที่ราคารถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่ขายในไทยยี่ห้อ BYD ลดราคาลงอย่างรุนแรงจากปีก่อนถึงคันละ 340,000 บาท รุกไล่สร้างมาร์เก็ตแชร์จนติดอันดับท็อปเท็นของตลาดรถยนต์เมืองไทย


การที่ราคารถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่ขายในไทยยี่ห้อ BYD ลดราคาลงอย่างรุนแรงจากปีก่อนถึงคันละ 340,000 บาท รุกไล่สร้างมาร์เก็ตแชร์จนติดอันดับท็อปเท็นของตลาดรถยนต์เมืองไทยจนทำให้ผู้บริหารบริษัทจีนต้องออกมาประกาศว่าจะหาทางเยียวยาลูกค้าที่ซื้อรถไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะรุ่น ATTO3 ซึ่งเป็นรุ่นยอดนิยม จนกระทั่งนักเศรษฐศาสตร์ออกมาวิเคราะห์ว่า การที่ราคารถยนต์ดิ่งต่อเนื่องในรอบ 15 ปี สะท้อนกำลังซื้อระดับกลาง-ล่างอ่อนแอ หวั่นลามกระทบการบริโภค การจ้างงาน การผลิตลดวูบ ห่วงราคารถยนต์ร่วง กระทบผู้บริโภคให้ตัดสินใจทิ้งรถ เพราะมองว่าผ่อนต่อไม่คุ้ม

นักวิเคราะห์ของกลุ่มธนชาต (ทีทีบี) ชี้ตลาดรถยนต์ตกต่ำสุดในรอบ 15 ปี เพราะหนี้ครัวเรือนที่สูงฉุดกำลังซื้อและการปล่อยกู้ตกต่ำ อาจจะมีผู้บริโภคทิ้งเงินจองรถ  เพียงแต่คนในวงการรถยนต์ชี้ว่า นี่เป็นสาเหตุมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่สหรัฐฯ สั่งห้ามรถ BYD จากจีนเข้าไปแข่งขันกับรถยนต์ TESLA ของสหรัฐฯ ด้วยเหตุที่ว่าจีนอุดหนุนแบตเตอรีของ BYD มากเกินเหตุ  ทำให้ BYD ต้องเทสต๊อกมาขายให้ไทยในราคาถูกแทน  เนื่องจาก BYD มีแผนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอยู่แล้วจึงถือโอกาสทุ่มตลาดไทยเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นอย่างจริงจัง

การตลาดรถยนต์ที่ BYD กระทำต่อไทยจึงเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว ซึ่งเป็นการสร้างฐานลูกค้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้าและค่ายรถยนต์จีนอย่างมีพลัง  คำอธิบายอย่างหลังนี้เป็นผลประโยชน์กับผู้บริโภคของไทยที่ไม่อาจปฏิเสธได้  ถือเป็นการตลาดที่ผิดปกติ

เช่นเดียวกันกับการแนะนำให้ซื้อหุ้น CBG (คาราบาวกรุ๊ป) ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อคาราบาวแดงเนื่องจากมียอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากตลาดกัมพูชา ก็เป็นการตลาดที่ผิดปกติเนื่องจากสูตรของเครื่องดื่มชูกำลังที่ขายในกัมพูชานั้นมีความแรงมากกว่าของไทย โดยไม่มีคำเตือนเรื่องผลเสียต่อสุขภาพแบบในไทยหรือในตลาดยุโรปที่คาราบาวกำลังขยายตลาดอยู่

นักวิเคราะห์หลายสำนักแนะนำให้ซื้อ CBG ที่ราคาเป้าหมาย 91.00 บาท ส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศในเชิงปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 24% ในไตรมาส 2/67 จาก 23.4% ในไตรมาส 1/67 เริ่มสะท้อนผ่านงบในช่วงไตรมาส 3/67 เป็นต้นไปหลังผ่านช่วงบริหารสต๊อกของคู่ค้าให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม ขณะที่คาดว่ารายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/67 จะอยู่ที่ 687 ล้านบาท  กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากรายได้ที่เติบโต 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยหลัก ๆ มาจากยอดขายในตลาดกัมพูชา ลาว มาเลเซีย และเวียดนาม (CLMV) ที่ดีขึ้น

การเติบโตของ CBG ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่ผิดปกติของตลาดสินค้าเช่นเดียวกับการเติบโตของ BYD ในตลาดไทยที่เกิดจากเงื่อนไขพิเศษที่อธิบายไม่ได้ด้วยหลักการเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ตามปกติ

วิษณุ โชลิตกุล

Back to top button