TTB และเรื่องวุ่น ๆ ในตลาดหุ้น

ข้อมูล ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 หุ้น TTB มีปริมาณขายชอร์ตคงค้างที่ยังไม่ได้ซื้อคืนมากเป็นอันดับ 2 จำนวน 551.9 ล้านหุ้น


ข้อมูล ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2567

หุ้นธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB มีปริมาณขายชอร์ตคงค้างที่ยังไม่ได้ซื้อคืนมากเป็นอันดับ 2 จำนวน 551.9 ล้านหุ้น

หรือมีปริมาณขายชอร์ตที่ยังไม่ได้ซื้อคืนของหลักทรัพย์ Local+NVDR / จำนวนหุ้นชำระแล้ว 0.57%

ส่วนอันดับ 2 ที่มีปริมาณขายชอร์ตฯ คือ AWC

คำถามคือว่า เกิดอะไรขึ้นกับ TTB

ทำไมถึงกลายเป็นหุ้นที่ถูกชอร์ตเซลมากขนาดนี้

หากอ้างอิงจากหลักของการชอร์ตเซล

อย่างที่เรารับทราบกันว่า นักลงทุนที่จะไปยืมหุ้นมาทำชอร์ตเซล

เขาจะประเมินหรือคาดกันแล้วว่า หุ้นตัวนั้นหรือภาวะตลาดเป็นขาลง อาจด้วยเหตุผลหลายอย่าง เป็นทิศทางผลประกอบการ หรืออาจจะมีปัจจัยลบอื่น ๆ เข้ามา

ทว่า สำหรับหุ้นที่ถูกชอร์ตเซลในตลาดหุ้นไทยนั้น

กลับไม่ได้มีการใช้หลักการดังกล่าวมาทำชอร์ตเซล

เพราะหุ้นหลาย ๆ ตัว มีแนวโน้มผลประกอบการดี มีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุน

ซึ่งหุ้นเหล่านี้ราคาหุ้นควรจะปรับขึ้น

แต่กลับลงสวนกับพื้นฐาน

เช่นเดียวกับหุ้น TTB ที่ถูกชอร์ตเซลค่อนข้างมาก

จนส่งผลต่อราคาหุ้นที่เคยอยู่บริเวณ 1.85–1.90 บาท กลับถูกขายชอร์ตลงมาอยู่ที่ 1.60 บาท

ก่อนที่จะค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นมาได้ และมาอยู่บริเวณ  1.77-1.78 บาท

เข้าไปดูบทวิเคราะห์ของหุ้น TTB จากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต่าง ๆ ที่วิเคราะห์กันออกมา

ต่างคาดกันว่า กำไรของ TTB ไตรมาส 2/2567 จะออกมาทิศทางเป็นบวกทั้งนั้น

เช่น บล.ทรีนีตี้ คาดกำไรของ TTB งวดไตรมาส 2/2567 ที่ 5,407 ล้านบาท ดีขึ้น 1% จากไตรมาสก่อนหน้าและ +18% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน

ส่วนแนวโน้มทั้งปีทุกบล.(โบรกเกอร์) ต่างมองเป็นบวก

ไม่เพียงเท่านั้น TTB ยังถูกยกเป็นหุ้นเด่นของกลุ่มธนาคาร นอกเหนือจากแนวโน้มกำไรที่จะออกมาสูง

แต่ยังมีอัตราการจ่ายเงินปันผลระดับสูง คิดเป็นยีลด์เกือบ 6%

ดังนั้น ที่บอกว่า หุ้น TTB ที่ถูกชอร์ตเซล เพราะอาจมีปัจจัยลบเข้ามาและจะส่งผลต่อราคาหุ้นนั้น

เป็นเรื่องที่เกินจริง

ไม่ได้มีเพียงหุ้น TTB เท่านั้น ที่เป็นหุ้นพื้นฐานดีแต่ถูกนำมาปู้ยี่ปู้ยำด้วยการชอร์ตเซล

ยังมีอีกหลายหุ้นพื้นฐานดี เช่น บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT  ได้ถูกทำด้วยเช่นกัน

คำถามคือ นักลงทุน (ต่างชาติ) ไปเอาหุ้นมาจากใครเพื่อทำชอร์ตเซล

คำตอบคือ น่าจะมาจากกลุ่มที่ถือหุ้นในกลุ่ม 10 อันดับแรกนั่นแหละ หรือบางหุ้น “เจ้าของ” ก็อาจจะนำหุ้นออกมาให้ยืมเพื่อชอร์ตเซลเอง เพราะดีกว่าถือไว้เฉย ๆ

เพราะอย่างน้อยให้เขายืมหุ้นไปขายชอร์ต ตัวเองยังมีรายได้จากธุรกรรม

ส่วนกรณีของ TTB มีการตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะเป็นการยืมหุ้นของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติด้วยกันเอง หรือไม่ก็อยู่ในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะหุ้นที่นำมาขายชอร์ตมีอยู่ค่อนข้างมาก

มาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำออกมาใช้เพื่อกำกับหุ้นที่จะถูกทำชอร์ตเซล

จึงน่าจะมาถูกทาง แม้ว่าจะมาช้าไปซักหน่อย

แต่ก็ดีกว่าไม่มา

ส่วนประเด็นเรื่องวอลุ่มเทรดที่อาจจะลดลง และอาจจะถูก MSCI ปรับหรือถอดจากการให้น้ำหนักลงทุน

เข้าใจว่าเรื่องนี้ทางหน่วยงานกำกับน่าจะมีทางหนีทีไล่หรือประเมินเหตุการณ์ไว้แล้ว

อีกเรื่องที่จะเขียนถือเป็นปัญหาวุ่น ๆ ของหุ้นถูกการบังคับขายหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือ “ฟอร์ซเซล”

ส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด จะเกิดกับหุ้นขนาดเล็ก ที่ “เจ้าของ” นำหุ้นไปวางในบัญชีมาร์จิ้นไว้

แล้วนำเงินไปทำธุรกรรมต่าง ๆ 

วิธีการแบบนี้ อาจจะเกิดต่อความเสี่ยงในการถูกเทกโอเวอร์ ด้วยการถูกมือมืดทุบราคา เพื่อให้มีการบังคับขาย แล้วตนเองเข้าไปเก็บหุ้น

แต่เชื่อไหมว่า คนเป็นเจ้าของ เขามองเกมแบบนี้ออก

และเชื่อว่า คงไม่ยอมง่าย ๆ

บางคนคนเป็นเจ้าของเองอาจจะยอมถูกบังคับขายเองก็ได้

แล้วย้อนกลับมาซื้อหุ้นตัวเองในราคาต่ำนั่นแหละ

คนทุบ คนถูกบังคับขาย และคนกลับเข้ามาซื้อ

อาจจะเป็นคน ๆ เดียวกัน

ธนะชัย ณ นคร

Back to top button