‘เศรษฐกิจสหรัฐ’ สู่จุดเปลี่ยนใหม่

จากเหตุการณ์ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในงานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ถือเป็นการยิงประธานาธิบดีครั้งแรก นับตั้งแต่ความพยายามลอบสังหาร "โรนัลด์ เรแกน"


จากเหตุการณ์ “โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในงานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันเสาร์ที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นการยิงประธานาธิบดี หรือผู้สมัครชิงตำแหน่งสำคัญครั้งแรก นับตั้งแต่ความพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของพรรครีพับลิกันเมื่อปี 2524 

นั่นทำให้อาจมีผลกระทบอย่างมาก หรือเปลี่ยนทิศทางต่อการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง วันที่ 5 พ.ย. 67 ระหว่าง “ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกัน กับประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครต ที่ก่อนหน้ามีคะแนนจากผลสำรวจที่สูสีกันมาก

Nick Ferres ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนบริษัท Vantage Point Asset Management ระบุว่าผลการเลือกตั้งมีแนวโน้มจะส่งผลให้ “ทรัมป์” ชนะถล่มทลาย และอาจช่วยลดความไม่แน่นอนลง โดยอ้างถึงผลสำรวจที่ชี้ให้เห็นถึงการสนับสนุน “เรแกน” ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากความพยายามลอบสังหารดังกล่าว

จากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์หลายรายของสำนักข่าววอลล์สตรีทเจอร์นัล มองว่า อัตราเงินเฟ้อ การขาดดุลงบประมาณ และอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะเพิ่มสูงขึ้น หาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีครั้งที่สอง

แม้ว่า “โจ ไบเดน” กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ก้าวออกจากการเป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่มุมมองนักเศรษฐศาสตร์ ที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่ ได้รับแรงอิทธิพลจากนโยบายหาเสียงของทรัมป์ โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าและการอพยพ การประเมินดังกล่าว จึงไม่ยึดโยงอยู่กับกับผู้สมัครคนใดเป็นสำคัญ

“โดนัลด์ ทรัมป์” เสนอให้ประเทศสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีการนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก 10% ขณะที่เสนอให้เก็บภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีนกว่า 60% โดยให้คำมั่นว่าจะส่งผู้อพยพผิดกฎหมายออกนอกประเทศครั้งใหญ่ นั่นอาจส่งผลให้อุปทานแรงงานในบางอุตสาหกรรมลดลง

ทั้งนี้นโยบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของ “ทรัมป์” หรือ “ไบเดน” ต่างเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เนื่องจากกฎหมายต่าง ๆ จำเป็นต้องผ่านการประชุมของสภาครองเกรสและผ่านการพิจารณาต่อไป

โดยปกติแล้วตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศมากนัก หากเทียบกับวงจรธุรกิจ ปัจจัยภายนอก รวมถึงนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ด้านผลกระทบของการขาดดุลงบประมาณ นักเศรษฐศาสตร์ กว่า 51% ประมาณการว่าการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล จะเพิ่มสูงขึ้นภายใต้การดำรงตำแหน่งของทรัมป์ โดยช่วงต้นวาระของการดำรงตำแหน่ง “ทรัมป์” และพรรครีพับลิกันได้ลดภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคลและภาษีอสังหาริมทรัพย์ลง

ทั้งนี้การลดหย่อนภาษีบางส่วนจะหมดอายุในสิ้นปี 2568 โดย “ทรัมป์” ต้องการขยายเวลาของการลดหย่อนภาษีทั้งหมด ขณะที่ “ไบเดน” เลือกที่จะปล่อยให้การลดหย่อนภาษีสำหรับบุคคลร่ำรวยชาวอเมริกันสุดสิ้นสุดลง อีกทั้งมีแผนในการเพิ่มอัตราภาษีนิติบุคคลและภาษีอื่น ๆ อีกหลายประการ

อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์บางคน ระบุถึงความเสี่ยงที่ “ทรัมป์” อาจเข้าแทรกแซงความเป็นอิสระของเฟด โดยช่วงของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหนแรก “ทรัมป์” มักจะแสดงความไม่พอใจกับประธานเฟด “เจอโรม พาวเวลล์” ต่อต้านคำเรียกร้องของทรัมป์ที่เสนอให้ธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ย

ในทางกลับกันนักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่าหาก “ไบเดน” ได้ดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ การขาดดุลและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น สาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาลจากพรรคเดโมแครตที่ค่อนข้างสูง

Back to top button