แบงก์จ่อเข้าคุม EA
วันนี้ เข้าใจว่า ราคาหุ้น บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ไม่น่าจะลงมาฟลอร์อีก (-30%) หลังจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลดเครื่องหมาย SP
วันนี้ เข้าใจว่า ราคาหุ้น บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ไม่น่าจะลงมาฟลอร์อีก (-30%)
หลังจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลดเครื่องหมาย SP และราคาหุ้น EA ช่วง 2 วันที่ผ่านมา ลงมาระดับฟลอร์
แต่สมมุติว่า วันนี้ลงมาฟลอร์ หรือประมาณ 4.48 บาทต่อหุ้น
จะพบว่า เป็นราคาที่ต่ำกว่าพื้นฐานของ EA ที่โบรกเกอร์ต่าง ๆ ได้ให้ราคาเป้าหมายไว้
ข้อมูลจาก settrade พบว่า ค่าเฉลี่ยราคาเป้าหมายล่าสุดจะอยู่ที่ 6.40 บาท
จึงมีความเป็นไปได้ที่ราคาวันนี้อาจะเปิดในแดนลบก่อน ก่อนที่จะมีการเข้ามาไล่ราคา โดยเฉพาะบริเวณ 5.00 บาท +/- หรืออาจจะบริเวณ 5.50 บาท +/-
หรือหากดีหน่อย วันนี้อาจจะเปิดในแดนบวกเลยก็ได้
แต่มีประเด็นที่น่าสนใจคือ นักลงทุนสถาบัน หรือบรรดากองทุนต่าง ๆ ทั้งกองทุนประเภท Active Fund และ Passive Fund
ทั้งหมดได้ปรับพอร์ตทั้งการขาย และลดสัดส่วนหุ้นแบบสะเด็ดน้ำหรือยัง
หากเป็น Active Fund มีการประเมินกันว่า น่าจะขายออกมากันค่อนข้างมากแล้ว
ส่วน Passive Fund ก็น่าทยอยขายออกมาแล้วเช่นกัน
หากย้อนกลับไปในอดีต จะพบว่า หุ้นที่นักลงทุนสถาบันต้องปรับพอร์ต หรือขายออก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร
มีข้อน่าสังเกตว่า เรามักจะพบมีการ “ทำราคาขึ้น” เพื่อดึงรายย่อยเข้ามา ก่อนจะขายออก
ทว่า ล่าสุด สมาคมบริษัทจัดการกองทุนหรือ AIMC สมาชิกมีมติกันออกมาว่า จะไม่เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น EA
หากยึดตามมตินี้ เท่ากับว่า กองทุนจะเข้ามาไล่ราคาหุ้น (ก่อนจะปล่อยออก) ไม่ได้
คำถามคือ แล้วใครจะเป็นผู้เข้ามาดูแลสภาพคล่อง
หรือที่เราเรียกกันว่า “เจ้ามือ” นั่นแหละ
เว้นแต่ว่า บรรดานักลงทุนต่างมองกันแล้วว่า ราคาหุ้นได้ปรับลงมา และน่าจะรองรับเกี่ยวกับความเสี่ยงทั้งหมด หรือถึงจุด Bottom Out (จุดต่ำสุด)
จึงมีการเข้ามาไล่ซื้อ จนเกิดการเด้งขึ้นทางเทคนิค
ต้องบอกก่อนว่า ปัจจุบัน EA ยังคงดำเนินการธุรกิจตามปกติ
ณ ปัจจุบัน ธุรกิจยังไม่ได้มีปัญหาอะไร
โดยเฉพาะตราบใดที่ EA ยังสามารถบริหารสภาพคล่อง มีเงินมาชำระคืนนี้ทั้งหุ้นกู้ตามกำหนด และเงินกู้ของแบงก์ต่าง ๆ ก็ไม่มีการผิดนัด
แต่ลึก ๆ แล้วมั่นใจว่าบรรดาเจ้าหนี้สถาบันการเงิน โดยเฉพาะแบงก์ที่เป็นลีดเดอร์การปล่อยสินเชื่อให้ EA น่าจะมีการหารือกับทางผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ แล้วล่ะ
เพื่อประเมินสถานการณ์ทางธุรกิจของบริษัทฯ
โดยจะมีอย่างน้อย 3 คำถามไปยังผู้บริหาร EA
เริ่มจาก 1.ธุรกิจและอุตสาหกรรมยังไปต่อได้ไหม แนวโน้มเป็นอย่างไร (ทั้งโรงไฟฟ้า และ EV)
2.โครงสร้างทางการเงิน รายได้ และสภาพคล่อง
และ 3.การบริหารจัดการภายใต้ผู้บริหารชุดใหม่
หากคำตอบที่ได้รับและแบงก์เองประเมินแล้วว่ามีความน่าจำเป็น หรือเป็นไปได้ แบงก์ก็น่าจะยังสนับสนุนเท่าที่จะทำได้ต่อไป หรือหากพิจารณาดูแล้ว มีความเสี่ยง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่อาจเป็นเชิงลบ
แบงก์ก็อาจจะเข้ามาช่วย “ควบคุม” หรือให้คำแนะนำแนวทางการทำธุรกิจของ EA
ต้องบอกก่อนว่า แบงก์เจ้าหนี้เอง ไม่ต้องการให้ EA เกิดปัญหา เพราะจะนำไปสู่การเป็นหนี้เสีย
และแบงก์เองจะต้องตั้งสำรองหนี้ฯ กันสูงมาก (รวมกันกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท)
แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจะให้ไปถึงจุดตรงนั้น
สมมุติอีกว่า หากแบงก์ประเมินแล้วว่า EA จะมีปัญหาแน่ ๆ
แนวทางถัดไปก่อนจะเป็นหนี้เสียนั้น ก็เป็นไปได้ว่าบรรดานายแบงก์อาจใช้วิธี “ปรับโครงสร้างทางการเงิน” หรือ Restructure
กรณีปัญหาของ EA ยังไม่น่าจะจบลงง่าย ๆ
และน่าจะใช้เวลาอีกยืดยาว
กว่าฝุ่นจะหายตลบ
และยังไม่มีใครบอกได้ว่า จะจบลงแบบใด
ธนะชัย ณ นคร