หุ้น AOT ถึงเวลาสะสมได้หรือยัง ???

ช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น (1 มิถุนายน-12 กรกฎาคม 2567) AOT ปรับตัวลงเกือบ 10% หลุดระดับ 65 บาท ลงมาอยู่แถว ๆ 58 บาท


เส้นทางนักลงทุน

ช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น (1 มิถุนายน-12 กรกฎาคม 2567) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ปรับตัวลงเกือบ 10% หลุดระดับ 65 บาท ลงมาอยู่แถว ๆ 58 บาท

ราคาหุ้น AOT ที่ลดลง สะท้อน 3 ปัจจัยลบ ได้แก่ 1.ผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นจากการโอนย้ายสนามบินภูมิภาคจากกรมท่าอากาศยานมายัง AOT 2.การเรียกคืนพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ขั้นต่ำ หรือ Minimum Guarantee Per Head (MAG) จากบริษัท คิง เพาเวอร์ (King Power) ลดลง และ 3.การยกเลิกร้านค้าปลอดภาษีขาเข้า หรือยกเลิกการจัดตั้งร้านค้า Duty Free ขาเข้า เพื่อส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 มีมติรับทราบแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังเสนอผลการศึกษาแนวทาง, ผลประโยชน์ และผลกระทบจากการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ

เป้าหมายของภาครัฐหวังว่า หากยกเลิกร้านค้า Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี นักท่องเที่ยวต่างชาติจะใช้จ่ายในประเทศเพิ่ม 570 บาทต่อคนต่อทริป และจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรฐกิจ

สำหรับ AOT นั้น พื้นที่ร้าน Duty free ขาเข้าจะคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยมีการนำกรณีนี้มาเปรียบเทียบกับกรณีการขอพื้นที่เชิงพาณิชย์คืนก่อนหน้า ประเมินว่ารายได้สัมปทานที่คิดแบบผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ หรือ MAG จะลดลงราว 10% ส่งผลกระทบต่อรายได้ปี 2568-2569 ที่ราว 1.2-1.4 พันล้านบาทต่อปี และกระทบกำไรปกติราว 4-5% ต่อปี หลัก ๆ มาจากการลดลงของรายได้จากค่าสัมปทานจาก King Power ตามพื้นที่ขายที่ลดลงดังกล่าว นำไปสู่ผลกระทบต่อกำไรในปี 2568 ซึ่งคาดไว้ราว ๆ 5%

สิ่งที่เกิดตามมา คือ โบรกเกอร์ต่างพากันปรับราคาเป้าหมาย AOT ลง แม้จะยังคงยกให้เป็นหุ้นได้ประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยว และยังคงแนะนำ “ซื้อ” ยกตัวอย่าง เช่น

บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ ปรับลดราคาที่เหมาะสมปี 2568/2569 ลง 2% เหลือ 74 บาท จากเดิม 77 บาท มองว่ามีโอกาสที่การระงับการขายสินค้าปลอดภาษีอาจกลายเป็นมาตรการถาวร และปรับลดกำไรลง 5% ภายใต้สมมติฐาน MAG ลดลง 10% จากที่เคยได้รับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้จากร้านค้าปลอดภาษีของทั้ง 6 สนามบินของ AOT

ทั้งนี้ สนามบินสุวรรณภูมิใช้การลดลง 10% จากเดิมที่ 233 บาทต่อผู้โดยสาร และ 127.3 บาทต่อผู้โดยสาร สำหรับสนามบินภูมิภาค เท่ากับสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินภูมิภาคจะอยู่ที่ 191.7 บาท และ 90.27 บาท ตามลำดับ

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ฯ มองราคาหุ้น AOT สะท้อนปัจจัยลบแล้ว และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศแตะจุดต่ำสุดในเดือนมิถุนายน 2567 จากนี้จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากใกล้จะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ปกติหุ้น AOT จะให้ผลตอบแทนเป็นบวกในครึ่งปีหลัง จากกำไรเร่งตัวขึ้นในปีนี้ สนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแข็งแกร่ง อัตราการฟื้นตัวที่ 89% ของระดับเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งในรอบทศวรรษที่ผ่านมามีเพียงปี 2564 และ 2566 ที่หุ้น AOT ให้ผลตอบแทนติดลบในช่วงครึ่งปีหลังของปีปฏิทิน

ตลอดจนประเมินว่าการลดการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติใน AOT จะชะลอตัวลงหลังจากการเทขายอย่างหนักในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากมูลค่า (Valuation) ของ AOT เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยซื้อขายที่ P/E ปี 2568 ที่ 31 เท่า ในขณะที่ให้ ROE สูงขึ้น เมื่อเทียบกับระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเมื่อเปรียบเทียบกับสนามบินอื่น ๆ ในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม แม้จะคงคำแนะนำ “ซื้อ” แต่ให้ราคาเป้าหมายลดลงที่ 74 บาท จากเดิม 76 บาท หลังจากปรับลดประมาณการลง 2-5% เนื่องจากผลกระทบจาก MAG ที่ปรับลงหลังคืนพื้นที่ดังกล่าว

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ชี้ว่า ดิวตี้ฟรีขาเข้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5-10% ของพื้นที่ตามสัญญาใกล้เคียงกับการขอคืนพื้นที่เพื่อนํามาเพิ่มประสิทธิภาพสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ราว 8% ของพื้นที่ตามสัญญา

จึงประเมินกรณี Worst case ผลกระทบต่อกําไรปี 2568-2572 ไม่เกินกว่าการขอคืนพื้นที่รอบก่อนที่ 1.1 พันล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยไม่เกิน 4% ซึ่งไม่รวมผลจากการหารายได้อื่นเพิ่มเติมในอนาคต

ส่วนราคาหุ้นสะท้อนแรงกดดันทางพื้นฐานพอควรแล้ว คงคําแนะนํา “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 68 บาท คาดหวังการฟื้นตัวของราคาหุ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้าจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ช่วยหนุนกําไรกลับมาเติบโต รวมทั้งโอกาสในการปรับเพิ่มค่าบริการผู้โดยสารทั้งขาออก และ transit เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ที่เพิ่มขึ้นจาก SAT 1 และรันเวย์ (RUNWAY) 3 ที่สุวรรณภูมิ

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมิน 3 สถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น คือ 1.หากมีการยกเลิกการจัดตั้งร้านค้า Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1-2 ปี จะกระทบมูลค่าเหมาะสมเพียง 0.5-1 บาทต่อหุ้น

2.ประเมินโอกาสสูงที่ภาครัฐจะยกเลิกการจัดตั้งร้านค้า Duty Free ขาเข้านานกว่านั้น หรืออาจพิจารณายกเลิกแบบถาวรเลย ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะกระทบต่อมูลค่าเหมาะสมบวก/ลบ 4 บาทต่อหุ้น

และ 3.การต้องลดพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ตลาดกังวลต่อการขอปรับเงื่อนไขสัมปทานจากผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะสำหรับ King Power ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และคิดเป็นสัดส่วน 40-60% ของรายได้สัมปทาน AOT ดังนั้นในมุมมองของโบรกเกอร์รายนี้ จึงให้คำแนะนำเพียง “TRADING” ให้ราคาเหมาะสมที่ 68 บาทต่อหุ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันราคาหุ้น AOT สะท้อนปัจจัยเหล่านี้ไปแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบกับราคาเป้าหมายที่บรรดาโบรกเกอร์ค่ายต่าง ๆ ประเมินไว้ ถือว่าหุ้น AOT ยังมีอัพไซด์เหลืออยู่มากทีเดียว

Back to top button