AQUA จากป้ายสู่อาหาร.!

ถ้าพูดถึงธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านในบ้านเรา เดิมมี 3 เจ้าหลัก...เจ้าแรก MACO ส่วนเจ้าที่สองเป็น PLANB และเจ้าสุดท้ายเป็น AQUA


ถ้าพูดถึงธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน หรือ Out of Home (OOH) ในบ้านเรา เดิมมี 3 เจ้าหลัก…เจ้าแรก บริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) หรือ MACO เป็นบริษัทลูกของบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ในกลุ่มบีทีเอส จุดเด่นตรงที่มีป้ายโฆษณาจำนวนมากและครอบคลุมทั่วประเทศ (ปัจจุบัน MACO ทรานส์ฟอร์มธุรกิจมาลุยด้าน ICT Solution และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท ร็อคเทค โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ ROCTEC)

ส่วนเจ้าที่สองเป็น บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB จุดเด่นมีป้ายสื่อกลางแจ้งที่มีความทันสมัยเป็นจอแอลอีดี ตอบโจทย์ในยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี (ปัจจุบัน PLANB มี “ปรินทร์ โลจนะโกสินทร์” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 สัดส่วน 21.97% ส่วน VGI ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 สัดส่วน 16.75%)

และเจ้าสุดท้ายเป็น บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA ซึ่งดำเนินการผ่านบริษัทลูกที่ชื่อบริษัท อควา แอด จำกัด (มหาชน) หรือ AA และบริษัท บอร์ดเวย์ มีเดีย จำกัด หรือ BWM จุดเด่นป้ายตั้งอยู่ในตำแหน่งป้ายที่ดี แต่จุดด้อยเป็นป้ายโฆษณายุคเก่า…ดังนั้น พอโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน AQUA เลยใช้กลยุทธ์เปลี่ยนคู่แข่งมาเป็นคู่ค้า ด้วยการขายธุรกิจสื่อนอกบ้านให้ PLANB ไป แล้ว AQUA ก็มาถือหุ้นใน PLANB สัดส่วน 1.96% แทน…

ส่วน AQUA พอขายธุรกิจสื่อนอกไปแล้ว ธุรกิจแวร์เฮาส์ ให้บริการคลังสินค้า ก็โดดเด่นขึ้นมา…ซึ่งล่าสุดเพิ่งจรดปากกาต่อสัญญาบริการให้เช่า Warehouse ระยะยาวกับกลุ่มยูนิลีเวอร์ (Unilever) เป็นระยเวลา 7 ปี ก็ช่วย security รายได้อย่างน้อย ๆ 7 ปี ซึ่งคาดจะทำรายได้ประมาณ 1,672 ล้านบาท และสร้างกระแสเงินสดราว 1,472 ล้านบาท…

แต่เนื่องจากธุรกิจแวร์เฮาส์ยังเด่นไม่พอ เลยเป็นที่มาของการขยายอาณาจักรธุรกิจอาหารให้เป็นสตาร์ดวงใหม่..!!

ด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจอาหาร…เริ่มจากการจัดตั้งบริษัท เอฟเอบี ฟู้ดโฮลดิ้ง จำกัด (FAB) ขึ้นมาเพื่อลงทุนในธุรกิจอาหาร ตามด้วยการเพิ่มทุนใน FAB จากทุนจดทะเบียนเดิม 151 ล้านบาท เป็น 1,275 ล้านบาท จากนั้นจะให้ Nomimashou ซึ่งถือหุ้นโดย FAB เข้าซื้อทรัพย์สินร้านอาหารราเมง ได้แก่ อิคโคฉะ ราเมน และ อุชิดายะ ราเมน จากบริษัท บีเอ็นเอฟ โฮลดิ้ง จำกัด (หนึ่งในผู้ถือหุ้นคือ “ปิยะเลิศ ใบหยก” หรือ เบียร์ ใบหยก) ในราคา 56 ล้านบาท ชำระเป็นเงินสด

ขณะเดียวกัน ก็ให้ FAB เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ส้มตำเจ๊แดงสามย่าน จำกัด (Jae Dang) เจ้าของร้านอาหาร “ส้มตำ เจ๊แดง สามย่าน” จาก Protea Investment Limited (Protea) จากผู้ถือหุ้นกลุ่มตระกูลใบหยก ในราคา 350 ล้านบาท ชำระเป็นเงินสด

ถัดมา FAB จะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ยามะจัง (ไทยแลนด์) จำกัด (Yamachan) เจ้าของร้านอาหาร เซไค โนะ ยามะจัง จาก Protea และผู้ถือหุ้นกลุ่มตระกูลใบหยก ในราคา 610 ล้านบาท ชำระเป็นเงินสด

จากนั้น FAB จะเพิ่มทุนจดทะเบียน 225 ล้านบาท ซึ่ง AQUA จะสละสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน และให้ “เบียร์ ใบหยก” เป็นผู้จองซื้อแทน ซึ่งจะทำให้ “เบียร์ ใบหยก” เข้ามาถือหุ้น 15% ใน FAB

ไม่จบแค่นั้น FAB จะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด (KT Restaurant) เจ้าของร้านอาหาร ซานตาเฟ่ สเต๊ก, ซานตาเฟ่ สเต๊ก อีซี่ และ ร้านเหม็ง แซ็ปนัวนัว จาก บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกลุ่มภิรมย์ภักดี ในราคา 1,000 ล้านบาท โดย FAB ออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 10 ล้านหุ้น ไปแลกแทนการชำระด้วยเงินสด

ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างของ FAB มี AQUA ถือหุ้น 51% ส่วนกลุ่มภิรมย์ภักดี ในนามบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ถือหุ้น 40% และ “เบียร์ ใบหยก” ถือหุ้น 9%

การปรับโครงสร้างธุรกิจอาหารของ AQUA น่าสนใจ เพราะนอกจากจะทำให้พอร์ตธุรกิจอาหารใหญ่บึบขึ้นมาในพริบตาแล้ว…การได้กลุ่มภิรมย์ภักดี และกลุ่มใบหยก มาเป็นสตราทิจิกพาร์ตเนอร์ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งได้เป็นอย่างดี…ใคร ๆ ก็รู้ว่าทั้งสองตระกูลนี้เป็นตัวพ่อตัวแม่ในธุรกิจอาหาร มีเครือข่ายที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว

ส่วนธุรกิจอาหารจะเป็นสตาร์ให้กับ AQUA ได้หรือเปล่า..?? อันนี้ยังไม่ชัด

แต่ที่ชัดแล้ว AQUA จากธุรกิจป้ายโฆษณา วันนี้หันมากินราเมง สเต๊ก และส้มตำ…ครบเครื่องทั้งอาหารญี่ปุ่น อาหารตะวันตก และอาหารอีสาน

คงอิ่มแปล้เชียว…

…อิ อิ อิ…

Back to top button