CGD เข้าโรงเรียน.!

ถ้าพูดถึง CGD นักลงทุนจะนึกถึงสองเรื่อง...เรื่องแรก CGD เป็นหุ้นของ “เสี่ยไมค์” สดาวุธ เตชะอุบล เจ้าพ่อคันทรี่กรุ๊ป ส่วนอีกเรื่อง CGD เป็นเจ้าของบิ๊กโปรเจกต์เจ้าพระยา เอสเตท


ถ้าพูดถึงบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CGD นักลงทุนจะนึกถึงสองเรื่อง…เรื่องแรก CGD เป็นหุ้นของ “เสี่ยไมค์” สดาวุธ เตชะอุบล เจ้าพ่อคันทรี่กรุ๊ป ส่วนอีกเรื่อง CGD เป็นเจ้าของบิ๊กโปรเจกต์เจ้าพระยา เอสเตท โครงการ Mixed-use สุดหรูติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย โรงแรมคาเพลลาและโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา…

ถามว่าทั้งสองโรงแรมหรูหราแค่ไหน..?? ก็อยู่ในเทียร์เดียวกับโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล นั่นแหละ..!?

แต่ถ้าย้อนไปช่วง 20-30 ปีที่แล้ว CGD มีรากเหง้ามาจากหุ้นตัวหนึ่งที่ชื่อว่า บริษัท ไดอาน่าดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ จำกัด (มหาชน) หรือ DIANA ประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้า ใช้ชื่อว่า “ไดอาน่าดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” ตั้งอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปี 2540

ต่อมาปี 2549 “จเรรัฐ ปิงคลาศัย” เข้าไปเทกโอเวอร์ DIANA ภายใต้เงื่อนไขเอาแค่กระดอง ส่วนเนื้อหรือธุรกิจดั้งเดิมจะขายคืนให้กลุ่มเจ้าของเดิมไป หลังจากนั้นก็เปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามใหม่เป็นบริษัท ดราก้อน วัน จำกัด (มหาชน) หรือ D1…หุ้นที่ทำให้นักลงทุนในยุคนั้นเป็นเศรษฐีก็ไม่น้อย แต่ที่เป็นยาจกก็มีเยอะ…จากการขายฝันการทำธุรกิจจำหน่ายสินค้าและให้บริการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

กระทั่งช่วงปี 2553 D1 ก็ถูกเปลี่ยนมืออีกครั้ง…คราวนี้ “กลุ่มเตชะอุบล” นำโดย “เสี่ยไมค์” เข้ามาเทกโอเวอร์ D1 และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CGD ในปัจจุบัน รวมทั้งเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจมาเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์..!!

แต่เนื่องจากคาแรกเตอร์ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเป็นลักษณะสร้างบ้าน สร้างคอนโดฯ แล้วขายเป็น Project by Project ทำให้ที่ผ่านมาหลาย ๆ ค่ายพยายามปรับตัวด้วยการหันไปลงทุนในธุรกิจที่เป็น Recurring Income หรือรายได้ประจำมากขึ้น..!!

เฉกเช่นเดียวกับ CGD ของ “กลุ่มเตชะอุบล” ที่ต้องแสวงหาธุรกิจที่เป็น Recurring Income อย่างต่อเนื่อง…เลยเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัทใหม่เอี่ยมอ่องที่ชื่อบริษัท ลีดดิ้ง เอ็ดดูเคชั่น จำกัด มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนนานาชาติ..!!

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าธุรกิจนี้มันดีจริงหรือเปล่า..?? เพราะตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิดจนถึงปัจจุบัน เราเห็นข่าวสารธุรกิจโรงเรียนเอกชน มีการทยอยปิดตัวมากขึ้น อันนี้เป็นข้อเท็จจริง…

แต่ถ้าโฟกัสไปที่ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย จะพบว่ายังคงเติบโตต่อเนื่อง จากข้อมูลของสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) เปิดเผยว่า มูลค่าธุรกิจโรงเรียนนานาชาติอยู่ที่ 70,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากนับโรงเรียนนานาชาติที่อยู่นอกสมาชิกสมาคมฯ มูลค่าธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในเมืองไทยไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว…

โดยการเติบโตดังกล่าวมาจากการขยายตัวของกลุ่มคนไทยที่มีความมั่งคั่งสูง รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจและทำงานในไทย เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางการเงินสูง ต้องการส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนานาชาตินั่นเอง

ก็คงคลายสงสัยกันแล้วว่า ทำไม CGD จึงแตกแขนงมาเปิดโรงเรียนนานาชาติ..!!

หรือถ้ายังไม่เก็ตอีก…ให้ไปส่องผลประกอบการของโรงเรียนนานาชาติรุ่นพี่อย่างบริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB ของ “เฮียยิว ฮอค โคว” ซึ่งเติบโตแบบก้าวกระโดดทุกปี…อย่างปีที่แล้ว 2566 ฟาดกำไรไป 653.53 ล้านบาท จากรายได้รวม 1,940.19 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกปีนี้โชว์กำไรไป 211.92 ล้านบาท จากรายได้รวม 576.47 ล้านบาท

จะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น…

เอาเป็นว่า ตอนนี้ CGD กำลังจะเข้าโรงเรียนแล้ว แต่จะเรียนดีแค่ไหน..?? ได้เกรด A เกรด B หรือเกรด C ก็ว่ากันไป…

เดี๋ยวรู้ ๆ ๆ ๆ ๆ

…อิ อิ อิ…

Back to top button