จี๊ด…ดอนเมืองโทล์ลเวย์

สัมปทาน ดอนเมืองโทล์ลเวย์ เอกชนก่อสร้างและรับค่าผ่านทางมีอายุ 25 ปี เริ่มจากปี 2532 หากไม่มีการขยายสัญญา อายุสัมปทานก็จะสิ้นสุดลงในปี 2557


สัมปทานบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง หรือ ดอนเมืองโทล์ลเวย์ เอกชนก่อสร้างและรับค่าผ่านทางมีอายุ 25 ปี เริ่มจากปี 2532 หากไม่มีการขยายสัญญา อายุสัมปทานก็จะสิ้นสุดลงในปี 2557

นั่นหมายถึง ดอนเมืองโทล์ลเวย์ ต้องส่งมอบทางด่วนคืนรัฐ รัฐจะผ่อนปรนค่าผ่านทางเท่าไหร่ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ย่อมทำได้ตามสะดวก เพราะไม่มีพันธนาการจากสัญญาฯ แล้ว

ทางด่วนยกระดับฯ ช่วงแรกจากดอนเมืองไปดินแดง ระยะทางแค่ 15.4 กิโลเมตร เก็บค่าผ่านทางเพียง 20 บาทเอง สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ ต่อเส้นทางไปอนุสรณ์สถาน 5.7 กม. เก็บเพิ่มอีก 15 บาท

รวมช่วงดินแดง-อนุสรณ์สถาน เก็บเพิ่มอีก 15 บาท รวมเป็น 35 บาท ช่วงอนุสรณ์สถานไปลงรังสิตไม่คิด เพราะกรมทางหลวงก่อสร้างเอง

จำเนียรกาลผ่านไป มีการแก้สัมปทาน 3 ครั้ง อัตราค่าผ่านทางช่วงดินแดง-ดอนเมืองปัจจุบัน เก็บเพิ่มเป็น 80 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถานเพิ่มเป็น 35 บาท รวมช่วงดินแดง-อนุสรณ์สถานเก็บในอัตรา 115 บาท

แต่เดี๋ยวนี้ บริษัทฯ ยื่นคำขาดรัฐบาล ขอจัดเก็บค่าทางด่วนเพิ่ม (ดินแดง-ดอนเมือง) จาก 80 บาท เป็น 90 บาท และช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน จาก 35 บาทเป็น 40 บาท รวมช่วงดินแดง-อนุสรณ์สถานเก็บเพิ่มเป็น 130 บาท

ทั้งนี้ตั้งแต่ธ.ค. 67 เป็นต้นไป ค่าทางด่วนเก่าว่าโหดแล้ว ก็ยังจะโหดเพิ่มขึ้นอีก

ต้องขอเท้าความกันสักนิดว่า ทางด่วนเส้นนี้ สร้างด้วยเงินเพียงแค่ 8,000 ล้านบาทเท่านั้น เพราะสร้างบนพื้นที่หลวง โดยปักตอม่อไปตรงกลางถนน ไม่ต้องมีค่าจัดกรรมสิทธิ์ใด ๆ ทั้งสิ้น

คนให้การอนุมัติก็คือมนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในสมัยนั้น และสัญญาสัมปทาน ก็มีข้อผูกมัดให้รัฐเป็นฝ่ายเสียเปรียบเอกชนมากมาย

อาทิเช่น ห้ามรัฐก่อสร้างถนนมาแข่งขันกับทางด่วนยกระดับดอนเมือง แต่ภายหลังมีการก่อสร้างถนนโลคัล โรดขนานไปกับทางรถไฟในสมัยสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ให้เอกชนฟ้องคดี และรัฐยอมแก้ไขสัญญาให้ยืดอายุสัมปทาน

แต่ก่อนนั้น ถนนวิภาวดีรังสิต เคยมีทางแยกยกระดับข้ามแยกเกษตรฯ และหลักสี่ ซึ่งใช้เงินแผ่นดินก่อสร้างเพื่อไม่ให้การจราจรติดขัดบริเวณทางแยกนั้น

แต่ตามสัญญาก็ต้องทุบทางแยกทั้ง 2 จุดหมด และเปลี่ยนมาเป็นการก่อสร้างสะพานลอยตามแนวตะวันตกมาตะวันออก จากงามวงศ์วานมาเกษตร และแจ้งวัฒนะมาตามลำดับ

เพื่อกวาดต้อนและบังคับคนให้มาใช้ทางด่วนดอนเมืองฯ ถึงกับทุบสะพานลอยเดิมกันเลยทีเดียว

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์วอนขอให้เอกชนระงับการขึ้นทางด่วนใหม่ไว้ก่อน ส่วนประธานดอนเมืองโทล์ลเวย์ก็สำทับมาว่า อย่าให้เอกชนรับภาระฝ่ายเดียว รัฐต้องช่วยรับภาระกับเอกชนด้วย

“แนวทางที่ง่ายที่สุดคือ ขยายสัมปทานให้เราลงทุน 3 หมื่นล้านสร้างส่วนต่อขยายจากรังสิตไปบางปะอิน หรือจะให้เรารับสัมปทานตลอดเส้นทางดินแดง-บางปะอินก็ได้”

สุริยะตอบกลับว่า กำลังคุยกับดอนเมืองโทล์ลเวย์ เพื่อให้ค่าผ่านทางลดลงโดยแลกขยายสัมปทาน เชื่อมั่นว่าจะขยายสัญญาฯ ไม่ถึง 30 ปี และไม่ใช่เป็นการเอื้อเอกชน แต่เป็นการเอื้อประชาชน

ท่านจะเอื้อประชาชนหรือทุบประชาชน มันเจ็บจี๊ดหัวใจนะ จะบอกให้

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button