‘สุพล-บรรยง’ เก็บ KKP มั่นใจพื้นฐานแกร่ง

ผู้บริหาร KKP แสดงความมั่นใจในพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทด้วยการทยอยเข้าเก็บหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่อง


เส้นทางนักลงทุน

ผู้บริหารธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP แสดงความมั่นใจในพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทด้วยการทยอยเข้าเก็บหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่อง

จากการสำรวจของ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” พบว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน (24 กรกฎาคม 2567) “สุพล วัธนเวคิน” ประธานกรรมการ บริษัท ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) มีการเข้าทยอยเก็บสะสมหุ้น KKP รวมทั้งสิ้น 300,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,587,500 บาท

แบ่งเป็นการเข้าซื้อเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 50,000 หุ้น ณ ระดับราคา 49.50 บาท จากนั้นซื้อเพิ่มเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 อีกจำนวน 50,000 หุ้น ณ ระดับราคา 49.25 บาท กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ซื้อหุ้นเพิ่มอีกจำนวน 200,000 หุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 38.25 บาท

นอกจากนี้ ยังพบว่า “บรรยง พงษ์พาณิช” กรรมการ บริษัท ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ได้มีการทยอยซื้อสะสมเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ได้ทำรายการซื้อหุ้น KKP จำนวน 200,000 หุ้น ณ ระดับราคา 47.98 บาท

จากนั้นมีการซื้อเพิ่มอีกจำนวน 12,900 หุ้น ที่ราคา 50 บาท เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 และเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 มีการสะสมเพิ่มจำนวน 87,100 หุ้น มีราคาที่ 49.71 บาท ทั้งนี้การทยอยซื้อสะสมนับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 300,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 14,570,741 บาท

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง KKP ได้แจ้งผลการดำเนินงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ของปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 769 ล้านบาท ลดลง 45.4% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน

หลัก ๆ มาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับลดลง 9.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงตามต้นทุนทางการเงินที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น

ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลง 18.8% จากการลดลงของรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อตามการชะลอตัวของสินเชื่อปล่อยใหม่

ประกอบกับภาวะทางด้านตลาดทุนที่ยังคงไม่เอื้ออำนวย ทางด้านค่าใช้จ่ายธนาคารยังสามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิสำหรับไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีที่ 42%

ในส่วนของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ปรับตัวลดลง 5.8% หากเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 ตามมาตรการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ที่ธนาคารได้มุ่งเน้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นจากการที่ธนาคารมีการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งบางส่วนมีผลจากฤดูกาล และเพื่อเป็นการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง

รวมถึงปัจจัยทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ทางด้านอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 4% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.8% ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 และอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 136.5%

สำหรับงวดครึ่งแรกปี 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,275 ล้านบาท ลดลง 34.9% จากงวดเดียวกันของปี 2566 โดยรายได้รวมจากการดำเนินงานปรับลดลง 6.8% เป็นการลดลงในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับลดลง 4.5% จากต้นทุนทางการเงินที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น

ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลง 13.7% เป็นผลมาจากรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อที่ลดลงตามการชะลอตัวของสินเชื่อปล่อยใหม่

ประกอบกับภาวะความไม่แน่นอนทางด้านตลาดทุนที่ยังคงส่งผลกระทบต่อการลงทุน ทางด้านผลขาดทุนด้านเดรดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นปรับลดลง 20.1% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามมาตรการบริหารคุณภาพสินเชื่อที่ธนาคารได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และผลขาดทุนจากการขายรถยึดโดยรวมแล้วยังคงอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายของธนาคาร

อย่างไรก็ตาม แม้ผลการดำเนินงานอาจไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดหมายไว้ แต่ในมุมมองของโบรกเกอร์ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ เห็นว่า KKP ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เป็นไปตามคาด โดยชี้ว่าการที่รายได้รวมอ่อนตัว เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้บริหารได้เข้มงวดมาตรฐานการให้สินเชื่อ จึงอาจทำให้สินเชื่อหดตัวลง

ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลงจากผลกระทบที่ยืดเยื้อของสภาพแวดล้อมอัตราดอกเบี้ยสูงทั่วโลก ผลักดันให้ต้นทุนเงินทุนของธนาคารสูงขึ้น ส่วนสภาวะธุรกิจในตลาดทุนยังคงไม่เอื้ออำนวย ทำให้ค่าธรรมเนียมวาณิชธนกิจ ค่าคอมมิชชัน และรายได้จากการลงทุนอ่อนแอลง

กรณีที่ผู้บริหารได้ปรับลดเป้าหมายปี 2567 โดยลดการเติบโตของสินเชื่อเป็น -3% จากเดิม +3% และส่วนต่างสินเชื่อ จาก 5% เป็น 4.8% ทั้งนี้คาดหวัง ROE ที่ 8-9% เทียบกับ 10-11% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

แต่เชื่อว่าสาเหตุหลักของผลการดำเนินงานที่อ่อนแอ เนื่องจากผลของเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ไม่สดใส ซึ่งคาดว่าจะสามารถพลิกกลับได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 นี้ โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากมาตรการของกระทรวงการคลังที่จะทยอยออกมา ทำให้กำไรของ KKP จะฟื้นตัวไปพร้อมกัน จึงมีคำแนะนำ “ซื้อ” ให้มูลค่าที่เหมาะสมเท่ากับ 60 บาท

KKP นับเป็นธนาคารพาณิชย์อีก 1 แห่งที่ให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลในระดับที่น่าพอใจ โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2567 ถึงปัจจุบัน (24 กรกฎาคม 2567) สามารถคิดอัตราเงินปันผลได้ระดับ 7.84% ขณะที่ในปี 2566 อยู่ที่ 6.47% และปี 2565 อยู่ที่ 4%

Back to top button