‘วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ’ ภารกิจล้างบ้านตลาดทุนไทย
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา “ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ได้มีการเปิดใจเป็นครั้งแรกถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
เส้นทางนักลงทุน
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา “ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ได้มีการเปิดใจเป็นครั้งแรกถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมายในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เข้าดำรงตำแหน่ง โดยมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม
เป้าหมายของท่านประธานก.ล.ต.คนใหม่ถือว่ามีความเข้มข้นอย่างมาก เนื่องจากประกาศชัดเจนว่า 2 ภารกิจหลักที่จะทำเร่งด่วน โดยจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการก.ล.ต.ในเดือนหน้า คือ 1.การยกเครื่อง หรือปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายให้เห็นผล และมีกระบวนการทำงานอย่างรวดเร็ว
“ผมมาจากทางด้านดิจิทัล เมื่อผมเข้ามานั่งที่ก.ล.ต. ผมเห็นว่าการกล่าวโทษ การดำเนินคดีใช้เวลานาน การมีคดีใหญ่ ๆ หลายคดี ทำให้คนไม่มั่นใจ ผมจึงได้หารือกับบอร์ด ให้ก.ล.ต.มีการ Reform ให้มีความชัดเจนเรื่องการดำเนินคดี การกล่าวโทษ ว่าจะต้องทำรวดเร็ว 3 เดือนต้องคืบหน้า 6 เดือนต้องคืบหน้า ต่อไปนี้การตรวจสอบ การกล่าวโทษ และการดำเนินคดีในอำนาจของก.ล.ต. จะต้องแล้วเสร็จเป็นหลักเดือน ไม่ใช้เป็นหลักปี หรือหลาย ๆ ปี และภายใน 3 เดือน 6 เดือน จากนี้จะเห็นการดำเนินคดีไหลออกมามากขึ้น ต่อไปนี้เราจะขีดเส้นการดำเนินคดีแต่ละเคสและกำหนดเป็น KPI ในเรื่องของเวลา แต่จะยังคงต้องรักษาและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป” ประธานก.ล.ต.คนใหม่ กล่าว
สำหรับเป้าหมายเร่งด่วนเรื่องที่ 2 นั้น ก.ล.ต.จะเร่งดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดอินเวสเมนต์โทเคน ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นในการระดมทุนอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งจะต้องทำได้ง่าย สะดวก มีการนำระบบบล็อกเชนมาใช้ ถือเป็นการสินค้าประเภทใหม่ ๆ สร้างตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งกำลังเดินไปในทิศทางเดียวกับประเทศ คือ คาร์บอนเครดิต ในการนำมาสร้างรายได้ด้วยการเสนอขายในวงกว้าง
นอกจากนี้ ประธานก.ล.ต.คนใหม่ยังระบุว่า ปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากการประเมินสถานการณ์ ต้องการเห็นสภาพคล่อง มีนักลงทุนเข้ามาลงทุน และตลาดหุ้นเกิดความเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้นหรือขาลง ก็เป็นไปตามกลไกของตลาด
ที่ผ่านมา ในส่วนของตลาดทุนไทยมีคดีใหญ่หลายคดี ทำให้คนไม่มั่นใจ ดังนั้นจึงควรสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น จากการ Reform การบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ ดังนั้นนับจากนี้ก.ล.ต.จะ Synergy กับทุกฝ่ายเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด เช่นการประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่แรกเริ่มที่เห็นความผิดปกติ เพื่อเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรง
รวมทั้งจะมีการเดินสายเพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านคดี เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล เพื่อให้กระบวนการตัดสินมีข้อสรุปที่ชัดเจน รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษ หรือการยกฟ้องก็ตาม
ทั้งนี้ ก.ล.ต.จะมีการแบ่งคดีเป็นระดับ S, M และ L ตามผลกระทบที่ประเมินว่าจะเกิดขึ้นมากน้อยอย่างไร มีการสร้างกลไกการทำงานร่วมกันกับพนักงานสอบสวน เช่น การส่งบุคลากรมาร่วมในการทำคดี เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ โดยเรื่องนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นเรื่องที่สามารถทำได้เร็ว เพราะไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย
“การทำงานในเรื่องกฎหมายบางเรื่องต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลา แต่เรื่องไหนทำได้ก่อนก็จะทำเลย การร่นระยะเวลาการทำงานสำหรับคดีบางประเภท เราจะไม่ทำทุกคดี ขึ้นอยู่กับอิมแพ็กที่จะเกิดขึ้น จึงต้องมีการแยกไซซ์ของคดี ส่วนกรณีล่าสุด ที่เป็นข่าวว่าใช้เวลา 8 ปี 9 ปี ก็ต้องมานั่งวิเคราะห์กันว่ามีเหตุผลมากจากอะไร ฟังขึ้นหรือไม่ อีกที”
ประธานก.ล.ต.คนใหม่ กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนจากนี้ อาจจะมีคดีที่อยู่ในการพิจารณาของก.ล.ต.ไหลออกมาอีกมากนั้น เพื่อต้องการให้ผู้ลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นหากจะบอกว่าตอนนี้จะมีการล้างบ้าน ก็คงจะไม่ผิดนัก
“ความเชื่อมั่นอยู่ที่คน เราไปบอกให้เชื่อมั่นไม่ได้ แต่ถ้าเราพยายามสร้างความยุติธรรม โปร่งใส ตรงไปตรงมา การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของเรา ก็จะมีผลส่งตรงไปถึงตลาด ทำให้คนเกิดความมั่นใจ”
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานก.ล.ต.ได้ดำเนินการทางด้านกฎหมาย แบ่งเป็น ค่าปรับทางแพ่งจำนวน 3 คดี มีผู้กระทำผิด 13 ราย รวมเป็นจำนวนเงิน 26.07 ล้านบาท และชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 15.21 ล้านบาท ชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 7.4 แสนบาท
ขณะที่ มีการดำเนินคดีอาญาด้วยการกล่าวโทษจำนวน 11 คดี มีจำนวนผู้ถูกกล่าวโทษ 45 ราย ตลอดจนมีการดำเนินคดีอาญาด้วยการเปรียบเทียบปรับจำนวน 31 ข้อหา คิดเป็น 28 ราย มีจำนวนเงินค่าปรับรวม 10.69 ล้านบาท
การเข้ามาของ “ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ในฐานะประธานก.ล.ต.คนใหม่ ถือเป็นการยกเครื่องด้านการบังคับใช้กฎหมายของตลาดทุนไทยครั้งใหญ่กันเลยทีเดียว