รู้ยัง… ทำไมหุ้นถึงลง
ดัชนีตลาดหุ้นเมื่อวันศุกร์ปิดบวกได้ถึง 15.63 จุด นักลงทุนสถาบันที่ขายมาต่อเนื่อง 10 วัน พลิกกลับมาซื้อสุทธิ 1,545 ล้านบาท
ดัชนีตลาดหุ้นเมื่อวันศุกร์ปิดบวกได้ถึง 15.63 จุด
นักลงทุนสถาบันที่ขายมาต่อเนื่อง 10 วัน พลิกกลับมาซื้อสุทธิ 1,545 ล้านบาท
ส่วนนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 1,309 ล้านบาท
ดัชนีที่ขึ้นมาปิดยืนเหนือ 1,300 จุดได้อีกครั้ง ยังไม่ใช่เรื่องที่น่าไว้วางใจ
เพราะก่อนหน้านี้ดัชนีดีดกลับมายังระดับนี้หลายครั้ง
แต่ก็ร่วงลงมาบริเวณ 1,290 จุด +/– ตลอด
หากย้อนกลับไปถึงการปรับลงของดัชนีรอบล่าสุดที่ลงมาต่ำกว่าระดับ 1,300 จุด เกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2567
หลังจากนั้น ดัชนีจะวนเวียนอยู่ในกรอบ 1,280-1,330 จุด
ดัชนีที่ปรับลงมาเรื่อย ๆ จาก 1,500, 1,400, และ 1,300 จุด นั้น
มีความพยายามหาคำตอบ หรือสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากปัจจัยอะไรบ้าง
คำตอบ ที่ไปควานหามากัน มีทั้งจากปัจจัยต่างประเทศ และในประเทศ
จากต่างประเทศ เช่น นโยบายด้านดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ฯลฯ
ส่วนในประเทศ การเมือง เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.)
และอีกสองผู้ร้ายคือ “ชอร์ตเซล” และ “โปรแกรมเทรด”
และดูเหมือนว่า น้ำหนักหรือ เหตุผลหลักที่ทำให้หุ้นไทยลง (หนักขึ้น) น่าจะมาจากเจ้าผู้ร้ายสองตัวนี้แหละ
จนเป็นที่มาของหน่วยด้านการกำกับตลาดทุนทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาตรการที่มีความเข้มงวดต่อการทำธุรกรรมทั้งชอร์ตเซล และโปรแกรมเทรด
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ สกัดยอดธุรกรรมได้
เปอร์เซ็นต์ของยอดชอร์ตเซลเมื่อเทียบกับมูลค่าซื้อขายรวมปรับลดลง
รวมถึงโปรแกรมเทรดด้วย
ทว่า สิ่งที่คาดหวังกันว่า หากสกัดสองธุรกรรมนี้ได้ น่าจะทำให้หุ้นพลิกขึ้นได้ กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
มาตรการกำกับที่นำมาใช้เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้หุ้นปรับขึ้นในช่วงสั้น ๆ
หลังจากนั้น ร่วงลงมายังจุดเดิมอีกครั้ง
ทำให้ตอนนี้เริ่มกลับมาตั้งคำถามกันอีกครั้งว่า สรุปแล้ว หุ้นไทยที่ปรับลงมานั้นเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่
เพราะทั้งชอร์ตเซล และโปรมแกรมเทรด ถูกสกัดแล้ว
หุ้นไทยก็ยังปรับลง หรือขึ้นมาแต่ไปไหนได้ไม่ไกล ดัชนีวนเวียนในกรอบแคบ
ก่อนหน้านี้ได้เคยสัมภาษณ์ผู้จัดการกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หลายแห่ง
ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังไม่ได้มีแผนต่อการปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย แม้จะมองว่า หุ้นที่ปรับลงมาถือว่าค่อนข้างถูก แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องรอการประเมินความชัดเจน
เช่นเรื่องของการเมือง ตัวเลขจีดีพี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ผลประกอบการ บจ.
ขณะเดียวกันกลับไปให้ความสนใจหุ้นต่างประเทศทั้งสหรัฐฯ อินเดีย เวียดนาม และญี่ปุ่น
และเมื่อหันกลับมามองนักลงทุนต่างชาติ ก็ยังพบว่าขายหุ้นไทยต่อเนื่อง
หากทั้งต่างชาติและกองทุนยังไม่ได้เพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย
ดัชนีก็น่าจะยังวนเวียนในกรอบแคบไปแบบนี้
พอดัชนีขึ้นมายืนเหนือ 1,300 จุด คำแนะนำของนักวิเคราะห์บอกว่า อย่าซื้อตาม เพราะบริเวณนี้คือเขตขาย
พร้อมแนะนำให้เลือกถือ “เงินสด”
และไปรอรับที่ 1,280 จุด
น่าจะเป็นจุดที่มีความปลอดภัยกว่า
ธนะชัย ณ นคร