AOT เลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า.!
หลังจากสับสนอลหม่านเรื่องการหยุดประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้า หรือดิวตี้ฟรีขาเข้า ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2567 ใน 8 สนามบิน
หลังจากสับสนอลหม่านเรื่องการหยุดประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้า หรือดิวตี้ฟรีขาเข้า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2567 ใน 8 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินเชียงใหม่ สนามบินภูเก็ต สนามบินหาดใหญ่ สนามบินอู่ตะเภา สนามบินสมุย และสนามบินกระบี่
แต่ไฮไลต์อยู่ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ในฐานะเป็นผู้บริหาร 5 ใน 8 สนามบินข้างต้น…พอมีเรื่องนี้ขึ้นมา ก็กลายเป็น Overhang เป็นปัจจัยกดดันที่ค้างคาใจนักลงทุน ซึ่งคงได้รับผลกระทบแหละ ทำให้รายได้หายไป ก็มีการประเมินไปต่าง ๆ นานา เป็นเรื่องที่นักลงทุนรอความชัดเจนกันอยู่
ล่าสุดชัดเจนแล้ว เมื่อ AOT แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่านับตั้งแต่วันนี้ (1 ส.ค. 2567) เป็นต้นไป จะไม่มีดิวตี้ฟรีขาเข้าแล้วนะ..!!
โดย AOT จะรับคืนพื้นที่จากคิง เพาเวอร์รวมทั้งสิ้น 2,250.60 ตารางเมตร แบ่งเป็น พื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ 1,870.69 ตารางเมตร, สนามบินภูเก็ต สนามบินชียงใหม่ และสนามบินหาดใหญ่ พื้นที่รวม 217.45 ตารางเมตร และสนามบินดอนเมือง 162.46 ตารางเมตร
และที่ชัดเจนมากกว่านั้น คงเป็นรายได้ที่หายไปต่อเดือนประมาณ 137.32 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1,647.84 ล้านบาทต่อปี..!?
ถ้าให้แจกแจงก็จะประกอบด้วยรายได้ค่าเช่าพื้นที่จากสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ สนามบินหาดใหญ่ และสนามบินดอนเมือง หายไปเดือนละประมาณ 1.70 ล้านบาท ส่วนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนในช่วงปีสัญญา 2567-2568 ของสนามบินสุวรรณภูมิจะหายไปเดือนละประมาณ 126.25 ล้านบาท, สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินหาดใหญ่ หายไปเดือนละประมาณ 8.41 ล้านบาท และสนามบินดอนเมืองหายไปเดือนละประมาณ 6.96 ล้านบาท
ก็ถือเป็นข่าวร้ายที่ถูกปลดล็อกไปอีกหนึ่งประเด็น…
โดยนักวิเคราะห์คาดปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของ AOT ประมาณ 5-10% ต่อปี
อย่างบล.กรุงศรี ระบุว่า ราคาหุ้น AOT ที่ปรับลดลงจากเซนติเมนต์ลบข้างต้น มองเป็นโอกาสลงทุน เนื่องจาก 1)เชื่อว่าผลกระทบรายได้ลดลงจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น เพราะ AOT มีโครงการใหม่ซึ่งจะมาชดเชยรายได้ที่ลดลงหลายโครงการ และหลายโครงการจะเกิดขึ้นภายใน 1-2 ปีข้างหน้า
2)ปริมาณผู้โดยสารมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ล่าสุดในเดือน ก.ค. 2567 คิดเป็นสัดส่วน 88% ของช่วงก่อนเกิดโควิด และคาดจะเทียบเท่า 100% ช่วงก่อนเกิดโควิดในปี 2568 โดยคาดกำไรสุทธิปี 2567/2568 ที่ 19,130 ล้านบาท เติบโต 118% จากปีก่อน และปี 2568/2569 ที่ 23,356 ล้านบาท เติบโต 22% จากปีก่อน
และ 3)ราคาหุ้น AOT ปัจจุบันซื้อขายที่ PER’2567/2568 ไม่แพง สวนทางกำไรที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และมีโอกาสเติบโตจากโครงการใหม่หลายโครงการ
ที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นะ เป็นเรื่องที่รับรู้กันมาก่อนแล้ว แต่ดูเหมือนนักลงทุนยังไม่หายตกใจนะเนี่ย…เลยพร้อมใจกันกระหน่ำซัมเมอร์เซลขายหุ้น AOT ไม่ยั้ง ส่งผลให้วานนี้ (31 ก.ค. 2567) ระหว่างวันราคาทรุดลงไปต่ำสุดที่ 55.50 บาท ก่อนจะฟื้นขึ้นมาปิดตลาดที่ 56.50 บาท ปรับลดลง 0.88% ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่นกว่า 2,129.25 ล้านบาท
เอาเถอะ…ถ้าหายตกใจกันแล้ว จะหันมาเหลียวแล AOT บ้างก็ไม่เสียหายนะ…อย่าลืมว่า AOT กำลังอยู่ในโหมดเติบโตรอบใหม่ จากผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ระหว่างทางจะสะดุดขวากหนามไปบ้างก็ตามเถอะ..!!
ไม่อยากให้มานั่งเสียใจทีหลัง…
…อิ อิ อิ…